จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 22/2559

untitle22-59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 22/2559 วันพุธที่ 21 กันยายน 2559 มีวาระที่น่าจับตาหลายประเด็น ได้แก่ เรื่องผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz, เรื่องแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม, รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559, เรื่อง บมจ. กสท โทรคมนาคม ขอระงับการให้บริการแก่ บจ. มิลคอมซิสเต็มซ์, และวาระพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ 3 กรณี

วาระผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz
วาระเรื่องผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นเรื่องที่ได้รับการบรรจุมาตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้ง 18/2559 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 แต่น่าประหลาดใจอย่างมาก เพราะกระทั่งปัจจุบัน กทค. ยังไม่เคยพิจารณาวาระนี้ แม้จะมีการบรรจุอยู่ในวาระการประชุมทุกครั้งก็ตาม จนไม่แน่ใจว่าผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้นี้เป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วนและไม่มีความสำคัญอันใดหรือไม่

สาระหลักของวาระนี้ เป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินที่ศึกษาโดยคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้ฯ (ยังไม่หักค่าใช้โครงข่ายที่ต้องชำระให้กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม) ที่ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ทั้งหมดตลอดช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ (ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 – 3 ธันวาคม 2558) เปรียบเทียบกับแนวทางที่รับฟังตามเอกสารหลักฐานของผู้ให้บริการ โดยสรุปตัวเลขตามแนวทางของคณะทำงานฯ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ 13,989.24 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ 879.59 ล้านบาท รวม 14,868.83 ล้านบาท ส่วนแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอเปรียบเทียบนั้น บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ 3,088.42 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ 879.39 ล้านบาท รวม 3,967.81 ล้านบาท ซึ่งสองแนวทางนี้มียอดแตกต่างกัน 10,901.02 ล้านบาท (อ่านรายละเอียดของวาระเพิ่มเติมได้ที่ https://nbtcrights.com/agenda/6767)

หมายเหตุ ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เสนอว่า การคำนวณรายได้ของคณะทำงานฯ ไม่ได้ยึดตามหลักเกณฑ์ที่ กทค. เคยมีมติไว้ จึงนำเสนอผลการตรวจสอบรายได้นำส่งรัฐที่คำนวณใหม่ให้ กทค. พิจารณา โดย บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 2,153.24 ล้านบาท ค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท จำนวน 645.97 ล้านบาท สรุปยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐ จำนวน 1,507.27 ล้านบาท ส่วน บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 1,049.17 ล้านบาท ค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท จำนวน 314.75 ล้านบาท สรุปยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐ จำนวน 734.42 ล้านบาท โดยการประชุม กทค. มีมติเห็นชอบตามผลตรวจสอบรายได้ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอใหม่นี้ แต่มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้กระทรวงการคลังและ สตง. พิจารณาให้ความเห็นประกอบ

——————————————–

วาระแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณาเห็นชอบแนวทางปฏิบัติใหม่ โดยมีข้อเสนอหลักคือการแยกกระบวนการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมออกจากกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน นั่นคือ สำนักงาน กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีที่มีการยื่นคำขอและแนบเอกสารหลักฐานมาครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่ามีการร้องเรียนค้างอยู่หรือไม่ แต่หากพบว่าภายหลังจากการออกใบอนุญาตแล้วมีผู้ร้องเรียน จึงค่อยให้ดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชน หรือเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ในการจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชน ให้กำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุม โดยใช้หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ คือชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับประโยชน์ของเอกชนที่เสียไป

อันที่จริง สำนักงาน กสทช. ได้เคยนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ กทค. พิจารณามาแล้ว 2 ครั้งในการประชุม กทค. ครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 และครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 แต่ติดขัดในประเด็นข้อกฎหมาย เนื่องจากเดิมสมัย กทช. เคยมีมติว่า หากผู้ขอรับใบอนุญาตยังมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนอยู่ จะออกใบอนุญาตให้มิได้ ดังนั้น กทค. จึงจำเป็นต้องพิจารณาใหม่ในเรื่องที่เคยมีมติ ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่า ในการขอทบทวนมตินั้นจะต้องมีสัดส่วนคณะกรรมการในการพิจารณาเท่าไร และใครเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยให้ทบทวนมติ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่า คือการพิจารณาเนื้อหาของแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมฉบับใหม่ เพราะอาจเป็นการผูกปมปัญหาในกระบวนการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมให้ขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อมีการออกใบอนุญาตให้ไปก่อนทั้งที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน แล้วหากภายหลังปรากฏว่าประชาชนยังคงลงมติไม่ยอมให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ก็จะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นว่าสำนักงาน กสทช. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะเลือกฝืนมติประชาชนในพื้นที่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ให้บริการ แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ย่อมส่งผลเสียหายหรือสร้างความขัดแย้งตามมามากขึ้น

นอกจากนี้ ในการประชุม กทค. ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทั้งครั้งที่ 8/2559 และครั้งที่ 13/2559 กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกตและขอให้สำนักงาน กสทช. รายงานข้อมูลเรื่องสถานีวิทยุคมนาคมที่ยังไม่สามารถตั้งได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องร้องเรียนมาให้ทราบ เพื่อต้องการรู้ว่า มติสมัย กทช. เป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งและขยายสถานีวิทยุคมนาคมจริงหรือไม่ หรือเป็นอุปสรรคมากน้อยเพียงใด เนื่องจากมีการอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องแก้ไขมติ กทช. กรณีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ก็ไม่เคยไขข้อสงสัยประการนี้แต่อย่างใด หากแต่ยังคงดึงดันในการผลักดันแนวทางปฏิบัติใหม่นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาโดยตลอด

ขณะเดียวกันโดยข้อเท็จจริงในปัจจุบัน พบว่าการร้องเรียนของประชาชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายหลังการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมไปแล้ว โดยที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางปฏิบัติโดยครบถ้วน นั่นคือมิได้ทำความเข้าใจกับประชาชน แต่สำนักงาน กสทช. ก็ไม่เคยเพิกถอนใบอนุญาตการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในกรณีใดเลย ดังนั้นภายใต้วิธีปฏิบัติเช่นนี้ หากไม่ให้การร้องเรียนมีผลต่อการออกใบอนุญาตตั้งแต่ต้น ก็ย่อมจะทำให้การร้องเรียนกรณีการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมไม่ว่าในขั้นตอนใดไม่ก่อประโยชน์หรือไม่มีความหมายใดๆ เลย และเท่ากับเป็นการกีดกันเสียงของประชาชนออกจากกระบวนการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ซึ่งแน่นอนว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2550

วาระนี้นับว่าน่าจับตาเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่บริเวณที่จะมีติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมแล้ว ยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่า การลงมติของ กทค. นั้น มีการพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลมากน้อยเพียงใด

——————————————–

วาระเรื่องรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559
เนื่องจากตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อที่ 13 กำหนดให้สำนักงาน กสทช. ต้องตรวจสอบสภาพการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมและจัดทำรายงานเสนอต่อ กสทช. โดยในส่วนของรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559 ซึ่งสำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอที่ประชุม กทค. เป็นวาระเพื่อทราบนั้น พอสรุปสภาพการแข่งขันในตลาดสำคัญๆ ได้โดยสังเขป ดังนี้

ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ประจำที่ภายในประเทศ มีผู้ให้บริการ 3 ราย คือ บมจ. ทีโอที, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น, และ บมจ. ทีทีแอนด์ที ซึ่ง บมจ. ทีโอที มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด คือร้อยละ 62.2 อย่างไรก็ดี รายได้จากการให้บริการในตลาดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากการให้บริการในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 อยู่ที่ 3,365.1 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 2.6

ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งประเภทผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายของตนเอง และผู้ให้บริการบนโครงข่ายเสมือน (MVNOs) โดยกลุ่มบริษัท AIS มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัท DTAC และ TRUE คิดเป็นร้อยละ 29.4 และร้อยละ 23.5 ตามลำดับ สำหรับรายรับจากการให้บริการเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559 อยู่ที่ 231 บาท ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.4 โดยบริการประเภท Prepaid มีค่ารายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายอยู่ 165 บาท ขณะที่ประเภท Postpaid อยู่ที่ 546 บาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายได้จากภาพรวมทั้งหมดของตลาด พบว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.8 โดยรายได้จากการให้บริการ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2559 อยู่ที่ 63,800 ล้านบาท

ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีรูปแบบการให้บริการ 3 ลักษณะใหญ่ ได้แก่ ระบบต่อตรง (International Direct Dialing), ระบบการสื่อสารทางเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol), และระบบบัตรโทรศัพท์ (International calling Card) โดยหากคำนวณส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ ณ สิ้นไตรมาส พบว่าผู้ให้บริการในเครือ AIN/AWN มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 56.5 ตามด้วย DTN และ CAT อยู่ที่ร้อยละ 25 และ 12 ตามลำดับ สำหรับรายได้จากการให้บริการ ณ สิ้นไตรมาสนี้ มีจำนวน 1,210 ล้านบาท ส่วนอัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่นาทีละ 21.07 บาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 3.5

ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ ในตลาดนี้ พบว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตประจำที่ทั้งสิ้น 6.39 ล้านราย อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส มีอัตราการเข้าถึงอยู่ที่ร้อยละ 31.04 ของครัวเรือน ทั้งนี้ ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต, บมจ. ทีโอที, และ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ โดย บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 38.4 เมื่อพิจารณารายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมด พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีรายได้รวม 13,100 ล้านบาท รายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายประมาณ 667 บาท และค่าบริการเฉลี่ยต่อ kbps อยู่ที่ 0.05 บาท ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 16.2

ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ตลาดอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่มีโครงสร้างคล้ายกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากผู้ให้บริการเสียงในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็จะมีการให้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ควบคู่ไปด้วย ผู้ให้บริการในกลุ่ม AIS จึงครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 53 รองลงมาคือ ผู้ให้บริการในกลุ่ม DTAC และกลุ่ม TUC มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 29.4 และ 17.7 ตามลำดับ สำหรับรายได้จากการให้บริการของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสามรายรวมกัน อยู่ที่ 27,989.2 ล้านบาท อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต ณ สิ้นไตรมาส อยู่ที่ 0.25 บาทต่อ MB โดยลดลงจากไตรมาสก่อน 0.01 บาทต่อ MB

——————————————–

วาระ บมจ. กสท โทรคมนาคม ขอระงับการให้บริการแก่ บจ. มิลคอมซิสเต็มซ์
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. กสท โทรคมนาคม ขอระงับการให้บริการ CAT Ethernet บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในประเทศ และบริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ แก่ บจ. มิลคอมซิสเต็มซ์ เพราะ บจ. มิลคอมฯ ค้างชำระค่าใช้บริการเป็นระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 – พฤษภาคม 2559 อย่างไรก็ตาม หากมีการระงับการให้บริการดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้บริการของ บจ. มิลคอมฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กรหรือกลุ่มธุรกิจจำนวน 217 ราย อีกทั้งมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดว่า “ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”

ในกรณีนี้หาก กทค. จะเห็นชอบให้ บมจ. กสทฯ ระงับการให้บริการ ก็จะกระทบโดยตรงกับผู้ใช้บริการ แต่หากห้ามไม่ให้ บมจ. กสทฯ ระงับการให้บริการ ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการโครงข่ายหรือขายส่งบริการ เพราะเท่ากับเป็นการสร้างภาระโดยไม่เป็นธรรม ดังนั้น สิ่งที่ กทค. ควรกำชับให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการคือ จัดทำหลักเกณฑ์การพักหรือหยุดการให้บริการ โดยวางหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนและแน่นนอน เช่น ผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการโครงข่ายหรือขายส่งบริการจะต้องมีระยะเวลาการแจ้งเตือนคู่สัญญาก่อนพอสมควร และผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญาเข้าใช้บริการต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าพอสมควรเช่นเดียวกัน รวมทั้งต้องมีการแจ้งให้ กสทช. ทราบล่วงหน้า พร้อมทั้งมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการและต้องมีการคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ใช้บริการให้ครบถ้วนด้วย เป็นต้น

——————————————–

วาระพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2559 มีการนำเสนอเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาจำนวน 7 วาระ ในจำนวนนี้มีเรื่องร้องเรียนที่น่าสนใจ 3 กรณีด้วยกัน

กรณีแรกเป็นเรื่องผู้ใช้บริการประสบปัญหาถูกเรียกเก็บค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ปัญหาของเรื่องนี้เกิดจากผู้ใช้บริการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น และทันทีที่เดินทางถึงสนามบินที่ญี่ปุ่น ก็ได้รับข้อความโฆษณาแพ็คเกจอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บริการไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่แสดงว่าต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตข้ามแดน ขณะเดียวกันขณะที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ผู้ใช้บริการเปิดเครื่องโทรศัพท์เพื่อใช้ถ่ายภาพและเชื่อมต่อ WiFi ของโรงแรมเท่านั้น ไม่ได้ใช้บริการอื่นใด แต่หลังจากเดินทางกลับประเทศไทย ก็ได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการประมาณ 18,000 บาท โดยผู้ให้บริการแจ้งว่าเป็นค่าใช้บริการจากบริการข้ามแดน (International Roaming) จากประเทศญี่ปุ่น

ภายหลังจากที่ผู้ใช้บริการร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ผู้ให้บริการได้เสนอที่จะปรับลดค่าบริการให้กับผู้ใช้บริการเหลือประมาณ 4,200 บาท แต่ผู้ใช้บริการเห็นว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่เคยขอเปิดบริการและไม่ได้ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตตามที่บริษัทกล่าวอ้าง จึงยืนกรานปฏิเสธการชำระค่าบริการในส่วนดังกล่าว

สำหรับปัญหาเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมมีความเห็นว่า ผู้ให้บริการไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานว่า ผู้ใช้บริการประสงค์ขอเปิดใช้บริการ International Roaming และไม่สามารถแสดงรายละเอียดบันทึกการใช้งาน เรื่องนี้จึงชัดเจนว่าผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการทั้งจำนวน

กรณีที่สองเป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการประสบปัญหาไม่ได้รับสิทธิจากการสมัครใช้บริการตามเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการได้โฆษณาไว้ โดยผู้ใช้บริการรายนี้ได้ซื้อเครื่องโทรศัพท์รุ่นหนึ่ง ตามโปรโมชั่นในโบรชัวร์แจ้งว่า ผู้ใช้บริการจะได้รับเงินคืนในรูปแบบโทรฟรีจำนวน 2,400 บาท ภายในระยะเวลา 10 เดือน แต่เมื่อผู้ใช้บริการไปติดต่อเพื่อขอรับสิทธิดังกล่าว พนักงานของบริษัทกลับแจ้งว่าผู้ใช้บริการต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นจากที่ใช้งานค่าโทรอยู่เดิมในอัตรา 49 สตางค์ต่อนาที เป็นอัตรา 2 บาทต่อนาที ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในโบรชัวร์ที่ผู้ให้บริการใช้โฆษณามาก่อน

เรื่องนี้คณะอนุกรรมการฯเห็นว่า เนื่องจากไม่ปรากฏข้อมูลว่าทางผู้ให้บริการมีการแจ้งผู้ใช้บริการก่อนว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นก่อนจึงจะได้รับสิทธิโทรฟรี ดังนั้นผู้ให้บริการจึงต้องคืนสิทธิโทรฟรีนี้แก่ผู้ใช้บริการ ภายใต้โปรโมชั่นเดิมที่คิดค่าโทรนาทีละ 49 สตางค์

กรณีที่สามเป็นเรื่องของผู้ใช้บริการรายหนึ่งซึ่งได้เคยแจ้งจำกัดวงเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ไม่เกิน 2,800 บาท แต่กลับถูกผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าใช้บริการจำนวนกว่า 40,000 บาท เนื่องจากมีการใช้บริการ SMS เพื่อร่วมโหวตเพลงในรายการทีวีเพียง 1 วัน โดยผู้ใช้บริการเข้าใจว่า เมื่อมีการใช้บริการเต็มวงเงินที่จำกัดไว้ ผู้ให้บริการจะระงับบริการโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ให้บริการกลับปล่อยให้มีค่าบริการเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยอ้างว่าอัตราค่าบริการตามที่ได้จำกัดวงเงินไว้นั้น ไม่รวมถึงค่าบริการเสริม ค่าโทรไปยังหมายเลขพิเศษ ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องชำระในอัตราปกติตามจริง

กรณีนี้ผู้ให้บริการไม่ได้ชี้แจงประเด็นว่ามีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการเมื่อค่าใช้บริการใกล้เต็มวงเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่ และไม่ได้มีหลักฐานว่าผู้ใช้บริการได้ขอยกเลิกหรือแจ้งขยายวงเงินค่าใช้บริการ ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯจึงมีมติว่า ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในส่วนที่เกินวงเงินที่ผู้ใช้บริการได้จำกัดไว้

เรื่องร้องเรียนทั้งสามกรณีนับว่าเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคมักประสบพบเจออยู่บ่อยๆ ดังนั้นนอกจากเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ถึงสิทธิที่มีอยู่แล้ว ก็น่าติดตามดูด้วยว่า ผลสรุปจากการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องของ กทค. จะมีมติสอดคล้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ หรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ วินิจฉัยเรื่องร้องเรียนเหล่านี้บนพื้นฐานการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกผู้ให้บริการเอาเปรียบ