ปลดล็อกช่องดาวเทียม – การเมือง, ตรวจสอบ กรณี ใบปลิวแลกกล่องดิจิตอลทีวี

จับตาวาระ กสท.เตรียมชงวาระเกณฑ์ปลดล็อกช่องดาวเทียม – การเมืองและ เร่งตรวจสอบ กรณี ใบปลิวแลกกล่องดิจิตอลทีวี

 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. และ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เปิดเผยว่า  ในการประชุม กสท.ครั้งที่ 26 วันจันทร์ 16 มิ.ย. นี้ มีวาระชวนจับตา ได้แก่ การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล และคณะทำงานด้านเทคนิคในการกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่จะมีการเร่งทำโปรมแกรม EPG – Electronic Program Guide และ ระบบ EWS – Emergency Warning System รวมทั้ง ติดตาม ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะกรอบแนวทางการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล หรือ MUX ตลอดจนแนวทางการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันและปัญหาด้านเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง        ส่วนกรณีที่ได้รับหนังสือขอผ่อนผันการอนุญาตออกอากาศ จาก ช่องบลูสกาย และ เอสเอสทีวี เมื่อวันที่ 9 – 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น ประกอบกับมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้เดินทางมายื่นหนังสือและร้องเรียนด้วยตนเองที่สำนักงานและกับกรรมการ กสทช.บางท่าน เนื่องจากมีความสับสนต่อเกณฑ์ ขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณา รวมถึงความเดือดร้อนทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการระงับการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีช่องรายการจำนวนหนึ่งที่ผ่านการพิจารณาและสามารถออกอากาศได้แล้ว จำนวน 331 ช่อง ขณะเดียวกันมีช่องรายการอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 124 ช่อง(และยังไม่ได้แจ้งความประสงค์บอกรับสมาชิกอีก 84 ราย)  รวมถึงช่องรายการที่นำเสนอสาระทางการเมืองที่ถูกระงับการถ่ายทอดออกอากาศจำนวน 13 ช่องรายการ ภายใต้ประกาศ คสช.ฉบับที่ 15/2557  ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ช่องรายการจำนวนหนึ่งได้แสดงความพร้อมในการปรับปรุงผังรายการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ได้ออกอากาศรายการต่อไป

ตนจึงได้ทำวาระเพื่อเสนอให้ กสท. พิจารณาและมอบหมายให้คณะอนุกรรมการและสำนักงานที่เกี่ยวข้องจัดทำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ประเภทดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน รวมทั้งเสนอมอบหมายให้สำนักงานพิจารณาช่องรายการที่นำเสนอเนื้อหาทางการเมืองและได้รับใบอนุญาตแต่ถูกระงับการออกอากาศตามประกาศ คสช. ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันความกังขาที่อาจเกิดขึ้น ในเรื่องการเลือกปฏิบัติของขั้นตอนการพิจารณาการขอรับใบอนุญาตจากผู้ประกอบการแต่ละราย และให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนในขั้นตอนการพิจารณาที่ผ่านมา…” สุภิญญา กล่าว ซึ่งวาระเรื่องนี้ที่เสนอเข้าไป ไม่ได้นำเข้าพิจารณาในกสท.ครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานได้เสนอวาระแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่(ดาวเทียมและเคเบิ้ล) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัรฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับการหลอกลวงผู้บริโภค จากกรณีที่มีบริษัทเอกชน และกลุ่มบุคคลเผยแพร่โปสเตอร์  แผ่นปลิว ที่มีข้อความหลอกลวงประชาชนให้สั่งจองกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล Set-Top-Box ระบาดในหลายจังหวัดนั้น “ตนก็ได้เสนอวาระให้ กสท.พิจารณา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน แต่วาระได้ถูกส่งไปยังสำนักงานให้ดำเนินการต่อ  แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่จับตาของสาธารณะและมีผลกระทบในหลายพื้นที่ ตนจึงจะเสนออีกครั้งในวาระจรของการประชุม กสท. พร้อมทั้งฝากแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ กรณีการแลก / แจก กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล เพราะ บอร์ดใหญ่ กสทช. ยังไม่ได้ข้อสรุป รอความชัดเจนทางการเร็วๆนี้…”สุภิญญา กล่าว