ผลการดำเนินงานออกใบอนุญาตมาตรา 70 พรบ.การประกอบกิจการฯ 51 , แนวทางปฏิบัติของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 79, ฟ้องร้องการออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ไม่ใช้คลื่นความถี่ พ.ศ. 2556, การตรวจสอบแบบสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก

จับตาวาระกสท. จันทร์ 21 ก.ค. นี้

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ 21 ก.ค. 57 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 30/57 มีวาระน่าสนใจ ได้แก่ วาระแจ้งเพื่อทราบผลการดำเนินงานออกใบอนุญาต ตามมาตรา 70 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อาทิ เช่น กล่องดิจิตอลทีวี กล่องดาวเทียม กล่องเคเบิ้ล เป็นต้น ส่วนแนวทางปฏิบัติของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการในการออกอากาศตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 79 เรื่องเงื่อนไขในการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ซึ่งต่อมา สำนักงานได้ออกประกาศ สำนักงาน กสทช.เรื่อง แนวทางปฏิบัติของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตฯ โดยสามารถเช็ครายชื่อได้ทางเวบไซต์ www.broadcast.nbtc.go.th /radio ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องการคืนสิทธิ์วิทยุ หลังประกาศ คสช. ทุกสถานีต้องเตรียมเอกสาร 3 อย่างคือ 1. ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ 2. ใบผ่านการตรวจคลื่น 3. ใบอนุญาตตั้งเสาสถานี จากนั้นต้องลงนามข้อตกลงกับกองทัพและ กสทช. และจะทยอยกลับมาออกอากาศ ในตอนนี้อาจยังมีสถานีไม่มากนักในการได้กลับมา เพราะ กสทช. ใช้กฎเข้มข้นขึ้นในการกลั่นกรองโดยเฉพาะด้านเทคนิค การใช้คลื่นความถี่ ส่วนเรื่องเนื้อหาโดยเฉพาะการโฆษณาอาหารและยาเกินจริง ได้อยู่ในข้อตกลงที่ต้องลงนามเช่นกัน หากฝ่าฝืนโทษก็จะหนักขึ้น ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังต้องร่วมมือกับ สำนักงาน อย. สสจ.ในการมอนิเตอร์ ร้องเรียน ตักเตือนและมีบทโทษ รวมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้ด้านการโฆษณาที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการ ส่วนอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ คงต้องทำงานกับเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อการเฝ้าระวังและร้องเรียนมากขึ้นเพื่อให้มีการกำกับการโฆษณาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมกว่าเดิม

การประชุมยังมีวาระเพื่อพิจารณา ได้แก่ แนวทางการดำเนินคดีปกครองจากการที่ บ.ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง กรณีได้รับความเสียหาย จากการออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ไม่ใช้คลื่นความถี่ พ.ศ. 2556

ส่วนวาระที่เกี่ยวข้องกับกิจการไม่ใช้คลื่น (เคเบิลและดาวเทียม) ได้แก่ การตรวจสอบแบบสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ของ TOT iptv ของ บ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 และการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการช่อง และโครงข่ายเพิ่มเติม

ส่วนวาระอื่นๆ ได้แก่ การพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น/เพิ่มทุนของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล วาระแนวทางแก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี วาระการอุทธรณ์เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตกำหนดให้ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด วาระผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. … ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ นอกจากนี้มีวาระที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรมหลักสูตรผู้ประกาศ ผลเป็นอย่างไร ชวนจับตา…

นอกจากนี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงาน คสช. และเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนและความเข้าใจผิด นั้น นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า อาจส่งผลกระทบจากการทำงานต่อผู้รับใบอนุญาต ตนจะเสนอให้ สำนักงานประสานการพูดคุยกับผู้ประกอบการ และเป็นสื่อกลางกับ คสช. ในการหาทางออกที่ผ่อนคลายความตึงเครียดเรื่องนี้ เพื่อให้สื่อได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐตามหลักการต่อไปได้…