เอเชีย บรอดคาสติ้งฯ ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ, เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคกรณีปัญหาบริการ Voice Mail

as2.59

การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 2/2559 วันพุธที่ 20 มกราคม 2559 มีวาระที่น่าจับตา 2 เรื่อง คือ เรื่อง บจ. เอเชีย บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเสียค่าบริการจากกรณีปลายทางโอนสายเข้าสู่ระบบ Voice Mail

วาระที่น่าจับตาเรื่องแรกเป็นเรื่องของ บจ. เอเชีย บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อประกอบกิจการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้เช่าใช้ และเพื่อให้บริการโทรคมนาคม (Network Provider and Service Provider) ได้แก่ โครงข่ายใยแก้วนำแสง โครงข่ายสายทองแดง รวมทั้งโครงข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งให้บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม (Satellite Uplink/Downlink Service) อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการซึ่งประกอบไปด้วยการให้บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อครั้งที่ กทค. เคยออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคมไปโดยไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่นั้น กทค. ได้ชี้แจงต่อสังคมว่า ผู้ประกอบกิจการที่ภาคพื้นดิน ซึ่งก็คือผู้ประกอบกิจการสถานีให้บริการ Uplink/Downlink เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นผู้ใช้คลื่นความถี่ในการรับส่งสัญญาณภายใต้ราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการในกรณีนี้ จำเป็นต้องจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลตามที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดด้วยหรือไม่

อันที่จริงการตีความข้อกฎหมายว่าผู้ประกอบกิจการดาวเทียมภาคพื้นดินเป็นผู้ใช้งานคลื่นความถี่ในตอนที่มีการออกใบอนุญาตให้กับดาวเทียมไทยคมซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมภาคอวกาศนั้น สร้างปัญหาในการพิจารณาให้ใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการดาวเทียมภาคพื้นดิน เพราะแม้ กทค. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมภาคพื้นดินเรื่อยมา แต่ก็ตั้งอยู่บนช่องว่างที่ว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายใช้คลื่นความถี่ที่ต้องได้รับการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลตามที่กฎหมายกำหนดเลย โดยที่ในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริการดาวเทียมที่ชัดเจน แม้ กทค. ปฏิบัติหน้าที่มา 4 ปีกว่า หรือจวนครบวาระแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ กทค. และสำนักงาน กสทช. ควรต้องเร่งหาความชัดเจน

ส่วนวาระน่าจับตาที่เป็นเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคนั้น เป็นกรณีที่ผู้บริโภคประสบปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการผิดพลาด โดยร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ว่า เวลาที่ใช้งานโทรศัพท์ ขณะที่ปลายทางยังไม่มีผู้รับสาย ระบบมีการโอนสายเข้าสู่บริการรับฝากข้อความ แม้ผู้ร้องเรียนไม่ได้ฝากข้อความ และพยายามกดวางสายทันที แต่ก็ยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 4 เดือนตามคำร้อง คือตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2556 ผู้ร้องเรียนต้องสูญเงินไปกว่า 150 บาท เรื่องนี้แม้อาจดูเหมือนว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่สูงมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และเป็นเรื่องทั่วไปที่ผู้บริโภคหลายคนประสบปัญหาในการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยืนยันสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการโดยชี้แจงว่า เป็นการเรียกเก็บค่าบริการภายหลังที่มีสัญญาณเตือนให้ฝากข้อความดังขึ้นแล้ว พร้อมทั้งส่งหลักฐานรายละเอียดการใช้งานโทรศัพท์ประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมาด้วย ซึ่งในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมมีมติเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากหลักฐานแล้ว ผู้ให้บริการมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการ แต่คณะอนุกรรมการฯ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า กทค. และสำนักงาน กสทช. ควรมีแนวทางป้องกันปัญหาในเชิงนโยบายเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กวดขันไม่มีการเปิดบริการ Voice Mail อัตโนมัติโดยผู้ใช้บริการไม่ได้สมัครใจ มีการกำหนดระยะเวลารอสายและช่วงเวลาระหว่างข้อความเสียงกับสัญญาณเตือนที่นานพอสมควรเพื่อไม่เป็นการเร่งรัดผู้ใช้บริการ นอกจากนี้อาจใช้วิธีการให้ผู้ใช้แสดงเจตนาว่าจะฝากข้อความหรือไม่ เช่นหากต้องการฝากข้อความให้กด 1 และหากไม่กดก็ให้ตัดสายโดยถือว่าไม่ต้องการฝากข้อความ เป็นต้น แทนที่จะเข้าสู่การฝากข้อความโดยอัตโนมัติ

คงต้องติดตามว่า กทค. จะมีมติชี้ขาดเรื่องร้องเรียนในวาระนี้อย่างไร รวมถึงจะรับลูกข้อเสนอเชิงรุกทางนโยบายของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมไปปรับปรุงด้วยหรือไม่ หรือจะมีเพียงแต่ลมปากว่าให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค

หมายเหตุ นอกจากทั้งสองวาระข้างต้น สำนักงาน กสทช. ยังได้เพิ่มเติมวาระเรื่องพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ในลักษณะกะทันหัน โดยมีการบรรจุวาระดังกล่าวในเช้าวันประชุม