จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 4/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 4/2560 วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. กรณีมีคำสั่งให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทปี 2558, การกำหนดแนวทางการดำเนินการบังคับทางปกครองต่อ บมจ. ทีทีแอนด์ที, รายงานเกี่ยวกับการครองงำกิจการโดยคนต่างด้าว, และพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหามาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับบริการคงสิทธิเลขหมาย

วาระพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. กรณีมีคำสั่งให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทปี 2558
วาระนี้เป็นเรื่องพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. กรณีมีคำสั่งให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมของปีบัญชี 2558 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 กสทช. ได้มีคำสั่งระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้ตลาดบริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่เพื่อให้สามารถเรียกถึงจุดปลายทาง มีผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 8 ราย ซึ่งรวมถึง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วย โดยผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญต้องปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด อันรวมถึงต้องจัดส่งรายงานบัญชีแยกประเภทตามประกาศ กสทช. เรื่อง การจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทฯ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการ แข่งขันในกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งเป็นประโยชน์ในเชิงการกำกับดูแลการประกอบกิจการ

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 แจ้งให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทของปีบัญชี 2558 ที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 แต่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โต้แย้งว่ามิได้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดบริการเชื่อมต่อโครงข่ายประจำที่เพื่อให้สามารถเรียกถึงจุดปลายทาง เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมและโอนกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่ บมจ. ทีโอที ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนฯ มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโครงข่ายโทรคมนาคมและไม่ได้เป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการแต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทฯ จึงไม่เป็นผู้รับใบอนุญาต พร้อมกันนั้น บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ขอให้เพิกถอนคำสั่ง และต่อมามีหนังสือลงวันที่ 14 กันยายน 2559 อุทธรณ์คำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่ให้บริษัทฯ นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมประจำปี 2558

อย่างไรก็ดี แม้กรณีนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จะพยายามปฏิเสธว่าบริษัทฯ เป็นเพียงคู่สัญญาและไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาต แต่ข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. ที่นำเสนอ กทค. เพื่อพิจารณา นับว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ เพราะหากเมื่อพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนฯ จะเห็นได้ว่า บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น มิได้มีหน้าที่เพียงการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กล่าวอ้าง แต่มีสถานะเปรียบเสมือนเป็นผู้ให้บริการ กล่าวคือ

ข้อ 9 กำหนดว่า บมจ. ทีโอที ยินยอมให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้ที่ดิน อาคาร และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของ บมจ. ทีโอที โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดอายุของสัญญา
ข้อ 10 กำหนดให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น มีสิทธิใช้สอยที่ดินและอาคารที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดหามาและส่งมอบเพิ่มเติมแต่ผู้เดียวโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าให้แก่ บมจ. ทีโอที
ข้อ 12 (ก) กำหนดให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น มีสิทธิที่จะใช้ ครอบครอง บำรุงรักษา และแสวงหาประโยชน์จากอุปกรณ์ในระบบ ที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินอื่นใดที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จัดหามาและโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนสิทธิการเช่าให้แก่ บมจ. ทีโอที และมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจาก บมจ. ทีโอที หรือบุคคลอื่นที่นำบริการพิเศษมาใช้ผ่านโครงข่าย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
ข้อ 17 กำหนดให้ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าบริการ บมจ. ทีโอที จะแบ่งรายได้ที่ได้รับจริงก่อนหักค่าใช้จ่ายให้แก่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในอัตราร้อยละ 84

ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า บมจ. ทีโอที ได้อนุญาตให้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ครอบครองและใช้โครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวในการให้บริการ ตลอดจนมีอำนาจบริหารจัดการและแสวงหาประโยชน์จากเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมเฉกเช่นเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วยตนเอง รวมถึงมีการกำหนดสิทธิในการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้เป็นสิทธิหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ศาลปกครองกลางก็ได้เคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนฯ เป็นผู้มีสิทธิประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด บนพื้นฐานของหลักการการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

———————-

วาระการกำหนดแนวทางการดำเนินการบังคับทางปกครองต่อ บมจ. ทีทีแอนด์ที
วาระนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งให้ บมจ. ทีทีแอนด์ที ระงับการหยุดการให้บริการวงจรเช่าและการรื้อถอนคู่สายที่ใช้ในการเชื่อมโยงสัญญาณตามสัญญาการให้บริการวงจรเช่าระหว่าง บมจ. ทีทีแอนด์ที และ บมจ. ทริปเปิลที และให้คืนการเชื่อมต่อโครงข่ายวงจรเช่าให้กับ บมจ. ทริปเปิลที ตามสัญญาการให้บริการวงจรเช่า ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 38/2553 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ยังไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งได้ ขณะที่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บมจ. ทีทีแอนด์ที เด็ดขาด ซึ่งผลของคำสั่งศาลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่อาจกระทบคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงนำเสนอวาระนี้เข้าที่ประชุม กทค. เพื่อขอให้พิจารณากำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไป

ในส่วนประเด็นที่ บมจ. ทีทีแอนด์ที ทำสัญญาร่วมการงานกับ บมจ. ทีโอที เพื่อให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ในเขตภูมิภาคจำนวน 1.5 ล้านเลขหมายนั้น เมื่อ บมจ. ทีทีแอนด์ที ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจในการบริหารงาน บมจ. ทีทีแอนด์ที จึงอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่า บมจ. ทีทีแอนด์ที จะหยุดดำเนินการในเรื่องรับแจ้งเหตุเสียและซ่อมสายกระจายตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ส่วนงานอื่นรวมถึงการขอยกเลิกบริการ บมจ. ทีทีแอนด์ที ยังคงมีหน้าที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงมีศูนย์บริการลูกค้าและ Call Center 1103 ที่เป็นช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ดี หากผู้ใช้บริการยังไม่ได้รับความสะดวก บมจ. ทีโอที จะเข้าไปดำเนินการบางส่วนเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการต่อไป และหากผู้ใช้บริการติดต่อเบอร์ 1103 ไม่ได้ ผู้ใช้บริการก็สามารถติดต่อมาที่ TOT Contact Center หมายเลข 1100 แทนได้ ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้บริการได้ต่อไป โดย บมจ. ทีโอที พร้อมรับคำขอของผู้ใช้บริการ เช่น ขอโอนเลขหมาย ย้ายเลขหมาย ขอระงับการใช้ชั่วคราว ขอชำระค่าบริการโดยหักบัญชีธนาคาร ขอยกเลิกการชำระค่าบริการโดยหักบัญชีธนาคาร หรือบริการอื่นๆ ตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการ เป็นต้น

———————-

วาระรายงานเกี่ยวกับการครองงำกิจการโดยคนต่างด้าว
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 ประจำปี 2559 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 71 ใบอนุญาต ประกอบด้วย ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 10 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม 38 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 12 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่สาม 8 ใบอนุญาต , และผู้ได้รับสัมปทาน 3 ใบอนุญาต

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. รายงานว่า จากการติดตามตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2559 พบว่า ยังคงเหลือผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ยังไม่ปฏิบัติตามประกาศด้วยการกำหนดหรือทบทวนข้อห้าม และรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการประจำปี 2559 จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บจ. ฟิต เทเลคอม, บจ. ไฮ อินเตอร์เน็ต, และ บจ. ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท สำหรับกรณีของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ที่ยังไม่มีการจัดส่งเอกสารให้สำนักงาน กสทช. พิจารณานั้น สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากทั้งสองบริษัทเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 100 โดยสภาพการบริหารงานของทั้งสองบริษัทจึงไม่น่ามีพฤติการณ์และสภาพการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ส่วนกรณีของ บมจ. ทีทีแอนด์ที และบริษัทในเครือนั้น สำนักงาน กสทช. เห็นว่า เหตุจากการที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บมจ. ทีทีแอนด์ที ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปื 2559 ได้ จึงเป็นเหตุให้ บมจ. ทีทีแอนด์ที และบริษัทในเครือไม่สามารถปฏิบัติตามประกาศได้ครบถ้วน

———————-

วาระพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหามาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับบริการคงสิทธิเลขหมาย
วาระนี้สืบเนื่องจากผู้ใช้บริการรายหนึ่งร้องเรียนมาที่สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ของสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 กรณีประสบปัญหามาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับบริการคงสิทธิเลขหมาย ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนแจ้งว่า บจ. เรียล มูฟ ไม่ยอมย้ายเครือข่ายให้ โดยอ้างว่าต้องใช้บริการให้ครบ 90 วัน ซึ่งสาเหตุที่ต้องการย้ายค่าย เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง Voice Mail เข้ามาโดยที่ไม่ได้ขอเปิดใช้บริการ และผู้ร้องเรียนไม่สามารถเปิด SMS ได้

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 มีมติว่า กรณีที่บริษัทฯ ปฏิเสธการโอนย้ายเลขหมายให้แก่ผู้ร้องเรียนเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 เป็นไปโดยไม่ชอบ แต่เนื่องจากหลังจากนั้นผู้ร้องเรียนยังใช้บริการอยู่ จึงต้องชำระค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และหากผู้ร้องเรียนยังต้องการโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการอื่น บริษัทฯ ก็จะต้องดำเนินการโอนย้ายเลขหมายให้แก่ผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสิ่งที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มักอ้างกับผู้ใช้บริการเสมอว่าต้องใช้บริการให้ครบ 90 วัน จึงจะสามารถขอย้ายเครือข่ายได้นั้น ชัดเจนว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้กำหนดเงื่อนไขนี้