การขอขยายระยะเวลาการใช้อัตรา IC อ้างอิง, ข้อเสนอสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาดาวเทียมไทยคม, บจ. เรียลมูฟ อุทธรณ์คำสั่งระงับฝ่าฝืนเรื่องคงสิทธิเลขหมาย

ggggg6.59

การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 6/2559 วันอังคารที่ 8 มีนาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตาหลายประเด็น ได้แก่ เรื่องการขอขยายระยะเวลาการใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง เรื่องข้อเสนอของสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาดำเนินการดาวเทียมไทยคม และเรื่อง บจ. เรียลมูฟ อุทธรณ์คำสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนในการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย

วาระการขอขยายระยะเวลาการใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง
สำนักงาน กสทช. นำเสนอวาระนี้เพื่อขอให้ กทค. พิจารณาเห็นชอบในหลักการขยายระยะเวลาการใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง (อัตรา IC อ้างอิง) ก่อนที่จะนำไปดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

เหตุที่ต้องมีการขอขยายระยะเวลาใช้อัตรา IC อ้างอิง เนื่องจากอัตรา IC อ้างอิงช่วงที่ 2 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ตามประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. 2557 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 โดยสำนักงาน กสทช. อ้างว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาอัตรา IC อ้างอิงที่เหมาะสมหลังจากมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์ในยุค 4G และ NGN ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถออกประกาศใหม่ได้ในช่วงต้นปี 2560

ทั้งนี้ อัตรา IC อ้างอิงจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมไม่สามารถเจรจาตกลงอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกันได้ หรือในกรณีที่มีข้อพิพาทที่เกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเกิดขึ้น โดยปัจจุบันในส่วนของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดอัตรา IC อ้างอิงของบริการ Mobile Call Origination และ Mobile Call Termination อยู่ที่ 0.34 บาท/นาที และบริการ Mobile Call Transit อยู่ที่ 0.04 บาท/นาที ส่วนกิจการโทรศัพท์ประจำที่ กำหนดอัตรา IC อ้างอิงของบริการ Fixed Call Origination และ Fixed Call Termination อยู่ที่ 0.34 บาท/นาที และบริการ Fixed Call Transit อยู่ที่ 0.16 บาท/นาที

เรื่องการขยายระยะเวลาการใช้อัตรา IC อ้างอิงนี้ แม้ กทค. จะสามารถทำได้ตามอำนาจทางกฎหมาย ก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย เพราะปัจจุบันต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ก็เคยจ้างที่ปรึกษาศึกษาการกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของบริการโทรศัพท์ในยุค 3G ผลพบว่า ต้นทุนการให้บริการ Mobile Call Origination และ Mobile Call Termination ลดลงจาก 0.40 บาท/นาที ในปี 2556 เป็น 0.15 บาท/นาที ในปี 2559 และบริการ Mobile Call Transit ลดลงจาก 0.04 บาท/นาที ในปี 2556 เหลือ 0.02 บาท/นาที ในปี 2559 ดังนั้นในการกำหนด อัตรา IC อ้างอิง ก็ควรกำหนดให้สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการด้วย

นั่นจึงเป็นคำถามตามมาว่า อัตรา IC อ้างอิงในปี 2559 ควรลดลงเหลือ 0.15 บาท/นาที ในบริการ Mobile Call Origination และ Mobile Call Termination และเหลือ 0.02 บาท/นาที ในบริการ Mobile Call Transit ตามผลการศึกษาที่เคยมีการทำไว้แล้วหรือไม่ เหตุใดจึงต้องรอผลการศึกษาใหม่และเลือกที่จะยืดเวลาคงอัตราเดิมเอาไว้ ซึ่งทำให้อัตราการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงต่อไป

วาระข้อเสนอของสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมไทยคม
วาระนี้เป็นวาระเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. รายงานให้ กทค. ทราบถึงเรื่องที่ได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 มกราคม 2559 แจ้งว่า คณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศ สภานิติบัญญัติ ได้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดำเนินการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัมปทานดาวเทียมไทยคม) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาว่า “ให้ดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว ลดความขัดแย้ง ไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ เพราะอะไร”

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชนฯ ในรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัมปทานดาวเทียมไทยคม) ที่เกี่ยวพันกับการดำเนินงานของ กสทช. คือ ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) ประสานกับสำนักงาน กสทช. ว่า การที่ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับดาวเทียมไทยคม 8 ณ ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออกนั้น สามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ รวมถึงประเด็นเรื่องผลตอบแทนที่ไทยคมต้องจ่ายให้กับรัฐภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงเสนอให้ กสทช. ศึกษาความเหมาะสมของค่าใช้บริการดาวเทียมไทยคม และหาแนวทางปรับลดค่าใช้จ่ายบริการวงจรดาวเทียมภายในประเทศ

นอกจากนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ยังมีประเด็นระบุด้วยว่า ให้กระทรวง ICT ต้องมีแนวทางในการรักษาตำแหน่งวงโคจร เช่นตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ที่ดาวเทียมไทยคม 4 กำลังจะหมดอายุลงในปี 2563 ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา ประเทศไทยก็อาจจะเสียสิทธิในตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวตามข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และเสนอให้กระทรวง ICT ตรวจสอบด้วยว่า ภายหลังที่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมไทยคม 6 สิ้นสุดลง ซึ่งทรัพย์สินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการดาวเทียม รวมทั้งสถานีบริการภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคมต้องตกเป็นของรัฐ ในกรณีนี้นอกจากสถานีบริการภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคมที่แคราย จังหวัดนนทบุรี ที่ต้องตกเป็นของรัฐแล้ว ในส่วนของสถานีภาคพื้นดินที่ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมดาวเทียมเช่นเดียวกับสถานีภาคพื้นดินที่แคราย โดยสามารถให้บริการสำรองซึ่งกันและกันได้นั้น ก็ต้องตกเป็นของรัฐด้วยหรือไม่

แม้วาระนี้สำนักงาน กสทช. จะนำเสนอเป็นเพียงวาระเพื่อทราบ แต่ในสาระของระเบียบวาระกลับนำเสนอให้ กทค. พิจารณาให้ความเห็น จึงน่าติดตามว่า กทค. จะมีความเห็นเช่นไร โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กสทช.

วาระ บจ. เรียลมูฟ อุทธรณ์คำสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย

วาระนี้สืบเนื่องจากที่สำนักงาน กสทช. พบว่า มีการโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ผู้ใช้บริการของ บจ. ทรูมูฟ ไปยัง บจ. เรียลมูฟ ไม่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังคำชี้แจงของบริษัทแล้ว เห็นว่าเป็นการดำเนินที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนการโอนย้ายของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายฯ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงมีคำสั่งแจ้งให้บริษัทระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย พร้อมทั้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยออกเป็นหนังสือแจ้งเตือนมาแล้วทั้งสิ้น 2 ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2558 และฉบับที่สอง ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558

อย่างไรก็ดี บจ. เรียลมูฟ ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช. โดยอ้างการกระทำว่า บริษัทได้ส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อให้ผู้ใช้บริการแสดงความประสงค์จะขอใช้บริการคงสิทธิเลขหมายมายังบริษัท แล้ว จากนั้นบริษัทได้ให้พนักงานโทรกลับไปยังผู้ใช้บริการเพื่อยืนยันถึงความประสงค์ที่จะขอใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย โดยบริษัทก็ได้ทำการบันทึกเสียงสนทนาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงเจตนาด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอวาระนี้ให้ กทค. พิจารณา สำนักงาน กสทช. ได้เสนอความเห็นโต้แย้งบริษัทว่า วิธีการส่งข้อความสั้น (SMS) นั้น สามารถใช้เพื่อเป็นการขอลงทะเบียนใช้บริการล่วงหน้าเท่านั้น แต่การยื่นคำขอใช้บริการจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนายืนยันความประสงค์ที่จะขอโอนย้ายและแสดงสถานภาพความเป็นเจ้าของเลขหมายต่อผู้ให้บริการรายใหม่ รวมถึงมีการตรวจสอบสถานภาพของผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการรายเดิม นอกจากนี้ ผู้ให้บริการรายใหม่ต้องเรียกเก็บแบบคำขอใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ตลอดจนเรียกดูและจัดเก็บสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่มีการลงนามรับรองสำเนาถูกต้องด้วย ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงเห็นว่า การดำเนินของบริษัทไม่เป็นไปตามขั้นตอนการโอนย้ายที่ถูกต้อง เพราะไม่มีการเรียกดูและเรียกเก็บเอกสารจากผู้ใช้บริการ อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบสถานภาพของผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการรายเดิม ด้วยเหตุผลประการนี้ สำนักงาน กสทช. จึงยืนยันความถูกต้องครบถ้วนในการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าว

แน่นอนว่า ในวาระนี้ กทค. คงต้องรับคำอุทธรณ์ของบริษัทไว้พิจารณา เนื่องจากมีการยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนผลการพิจารณาคำอุทธรณ์ของบริษัทจะเป็นไปในทิศทางใด จะสอดคล้องกับข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. และยืนยันความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองด้วยหรือไม่ คงต้องจับตา

หมายเหตุ มีการบรรจุวาระเพิ่มเติมภายหลังแบบกระทันหันที่น่าจับตาด้วย คือ เรื่องพิจารณากำหนดมาตรการให้การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz ให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) และเรื่องข้อเสนอของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในการเข้าคุ้มครองผู้ใช้บริการที่จะได้รับผลกระทบจากการยุติการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 900 MHz