กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่น 1800, แผนคุ้มครองผู้ใช้บริการเอไอเอสตามประกาศมาตรการเยียวยาฯบนคลื่น 900, การกำกับอัตราค่าบริการด้วยวิธี Price Cap, ปรับปรุงประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ

eeeee18.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 18/2558 วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2558 มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ กรณีการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และเรื่องพิจารณาแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการของบริษัทเอไอเอส ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รวมทั้งมีวาระน่าสนใจซึ่งที่ประชุม กทค. ค้างพิจารณา ได้แก่ เรื่องรายงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธี Price Cap และเรื่องการปรับปรุงประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ ส่วนการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค พบว่ากรณีส่วนใหญ่ที่บรรจุเป็นวาระในการประชุมครั้งนี้ ล้วนเป็นวาระเก่าที่ตกค้างมาจากการประชุม กทค. ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน เนื่องจากกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุม กทค. ไม่ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเลย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการลำดับการให้ความสำคัญในงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ กทค. ชุดนี้

วาระการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ กรณีการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อทราบคำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่องขยายระยะเวลาการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยอนุโลมให้บังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) ไปจนกว่าจะมีการประมูลและได้ผู้ให้บริการรายใหม่ พร้อมกันนั้นในวาระเดียวกันนี้ สำนักงาน กสทช. ก็ขอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณากำหนดวันที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการรายเดิมต้องยุติการให้บริการ เนื่องจาก กทค. มีแผนที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ออกจัดสรรด้วยวิธีการประมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558

สำหรับประเด็นการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการรายเดิมนั้น เบื้องต้นสำนักงาน กสทช. มีความเห็นเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาว่า ควรกำหนดให้วันหยุดให้บริการหมายถึงวันที่คณะกรรมการได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาต ซึ่งก็คือวันที่ที่ประชุม กทค. มีมติเห็นชอบการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือภายใน 90 วันนับจากวันที่ผู้ชนะการประมูลได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล โดยได้มีการชำระค่าประมูลคลื่นงวดแรกจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ และผ่านการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ซึ่งคาดว่าไม่น่าเร็วกว่าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

แม้แนวทางของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอว่า “วันหยุดให้บริการหมายถึงวันที่คณะกรรมการได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาต” จะดูมีความสมเหตุสมผลในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อไม่ให้เจอปัญหาซิมดับตามเจตนารมณ์ของประกาศมาตรการเยียวยาฯ และความพยายามอนุโลมการบังคับใช้ประกาศเรื่อยมา อาจไม่เป็นจริง นั่นหมายถึงว่าอย่างไรเสียอาจยังคงเกิดปัญหาซิมดับอยู่ดี เพราะผู้ชนะการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz ที่จะเป็นผู้ให้บริการต่อไป ย่อมไม่สามารถเข้ามารองรับได้ทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่หรือรายเก่า ต่างก็มีสิ่งที่ต้องเตรียมการ ทั้งเรื่องโครงข่ายการให้บริการ ระบบต่างๆ ที่รองรับการให้บริการ หรือแม้แต่แบบสัญญาให้บริการที่ต้องส่งให้ กสทช. พิจารณา ซึ่งปกติต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจพิจารณาพอสมควร ดังนั้นสาระสำคัญของวาระนี้จึงไม่ใช่แค่การหาข้อสรุปกำหนดวันสิ้นสุดการให้บริการของผู้ให้บริการรายเดิม แต่ต้องพิจารณาหาคำตอบถึงทางออกหรือมาตรการรองรับปัญหาหลังกำหนดวันสิ้นสุดการให้บริการด้วย

วาระพิจารณาแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการของบริษัทเอไอเอส
วาระนี้คล้ายกับเป็นการฉายซ้ำหนังม้วนเดิมเหมือนเมื่อคราวที่ไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ได้ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จนนำมาสู่การประกาศใช้มาตรการเยียวยาฯ เพื่อเลื่อนปัญหาซิมดับออกไป แต่ในคราวนี้เป็นสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ระหว่าง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กับ บมจ. ทีโอที กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 โดยที่สำนักงาน กสทช. มีแผนจัดประมูลคลื่นความถี่ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงไปแล้ว จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ กับกรณีนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประกาศมาตรการเยียวยาฯ กำหนดว่า ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานเดิมมีหน้าที่ให้บริการชั่วคราวจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครอง โดยก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ให้บริการดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนความคุ้มครองผู้ให้บริการและนำส่งให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งในส่วนของบริษัทเอไอเอสในฐานะผู้รับสัมปทานได้จัดส่งแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 และมีหนังสือขอปรับปรุงแผนลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ส่วน บมจ. ทีโอที ในฐานะผู้ให้สัมปทาน จนบัดนี้ยังไม่มีการจัดส่งแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อให้พิจารณาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการที่บริษัทเอไอเอสเสนอมา ก็มีข้อน่าจับตาในหลายประเด็น

ข้อมูลการให้บริการ บริษัทเอไอเอสระบุข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 ว่า ยังคงมีผู้ใช้บริการแบบรายเดือนในระบบจำนวน 446,000 เลขหมาย ผู้ใช้บริการแบบเติมเงินจำนวน 2,409,000 เลขหมาย อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุข้อมูลจำนวนเงินคงค้างในระบบของผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน ตลอดจนแนวทางการคืนเงินคงค้างในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งบริษัทควรมีการกำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขที่ชัดเจน รวมทั้งช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบ

การชำระค่าธรรมเนียมเลขหมาย บริษัทเอไอเอสเสนอว่าจะชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายเฉพาะที่ใช้งานและที่มีผู้ใช้บริการ (Active Number) เท่านั้น ซึ่งตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 บริษัทไม่อาจเลือกชำระเฉพาะในส่วนที่ใช้งานเท่านั้นได้

การจัดส่งข้อมูลต้นทุนและการนำส่งเงินรายได้ บริษัทเอไอเอสระบุว่า จะจัดส่งข้อมูลต้นทุนที่ไม่รวมค่าใช้โครงข่าย และจะนำส่งรายได้หลังหักต้นทุนตามกฎหมายแต่ไม่รวมต้นทุนค่าใช้โครงข่ายให้กับสำนักงาน กสทช. โดยให้สำนักงาน กสทช. เป็นฝ่ายหักต้นทุนค่าใช้โครงข่ายให้กับ บมจ. ทีโอที ต่อไป ซึ่งข้อเสนอนี้ขัดกับประกาศมาตรการเยียวยาฯ ข้อ 7 ที่กำหนดให้ “ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ โดยรายได้ที่หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป” นั่นหมายความว่าบริษัทเอไอเอสต้องเป็นฝ่ายชำระค่าใช้โครงข่ายกับ บมจ. ทีโอที ก่อนที่จะนำเงินรายได้ส่งสำนักงาน กสทช.

แผนการประชาสัมพันธ์ ยังขาดรายละเอียดในประเด็นเรื่องความถี่ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งบริษัทเอไอเอสควรต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน บริการคงสิทธิเลขหมาย และการขอรับเงินที่คงค้างในระบบคืน รวมทั้งเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการตามที่ประกาศมาตรการเยียวยากำหนดด้วย

วาระรายงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธี Price Cap
สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธีการ Price Cap เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะนำมาใช้ทดแทนมาตรการกำกับดูแลแบบเดิมที่เป็นการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงในแต่ละหน่วยบริการ โดยวิธีการ Price Cap นี้ เป็นการกำกับค่าบริการโทรคมนาคมจากดัชนีราคา (Price Index) ด้วยการคำนวณจากดัชนีราคาปีก่อนหน้า เงินเฟ้อ และปัจจัยด้านประสิทธิภาพ ดังนั้นหากเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพ ดัชนี Price Cap ก็จะสูงขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการสามารถขึ้นราคาค่าบริการได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าดัชนี Price Cap ที่สำนักงาน กสทช. คำนวณขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมายก็มีความไม่ชัดเจนว่าการกำกับดูแลค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธีการ Price Cap นั้น สามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บ แต่การกำกับดูแลด้วยวิธีการ Price Cap อาจมิใช่การกำหนดอัตราขั้นสูงตามนัยที่กฎหมายกำหนด

ในขณะที่วิธีการ Price Cap ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอก็ยังค่อนข้างคลุมเครือ เพราะไม่มีการระบุว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพที่เป็นตัวแปรสำคัญนั้นคืออะไร คำนวณอย่างไร ในการคำนวณดัชนีราคา สำนักงาน กสทช. ก็ไม่มีการขอข้อมูลราคาค่าบริการใดๆ จากผู้ให้บริการเลย เป็นเพียงการขอข้อมูลรายได้และปริมาณการใช้มาคำนวณเท่านั้น อีกทั้งกระบวนจัดทำหลักเกณฑ์ที่ผ่านมาก็จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความเห็นเฉพาะจากบริษัทผู้ให้บริการเท่านั้น ไม่เคยพูดคุยหรือรับฟังความเห็นจากตัวแทนกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และที่สำคัญหากมีการนำวิธีการ Price Cap มาใช้จริง ก็ต้องมีการศึกษาต้นทุนการให้บริการ และความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนและราคาค่าบริการใหม่ เพื่อให้ราคาค่าบริการที่จะกำหนดขึ้นในปีแรกของการกำกับดูแลเป็นราคาที่สะท้อนความมีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการในปีถัดไปสะท้อนความมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงมองไม่ออกเลยว่ารายงานการศึกษาฉบับนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติและใช้กำกับดูแลราคาค่าบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมและธรรมกับผู้บริโภคได้อย่างไร

นอกจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการด้วยวิธีการ Price Cap แล้ว ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเตรียมเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการขั้นเริ่มต้น (Entry-level Product) สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มาพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ การกำหนดรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการขั้นเริ่มต้นนั้น มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้บริการโทรคมนาคมให้กับผู้ที่ไม่เคยใช้งานหรือผู้มีรายได้น้อย โดยในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. อาจใช้แนวทางเลือกโปรโมชั่นที่ถูกที่สุดของผู้ให้บริการมาเป็นรายการส่งเสริมการขายขั้นเริ่มต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่ารายการส่งเสริมการขายดังกล่าวอาจไม่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้มากนัก

วาระการแก้ประกาศเรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุม กทค. เพื่อขอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ให้เป็นร่างประกาศ กสทช. โดยประกาศ กทช. ดังกล่าวมีการกำหนดให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับใบอนุญาตหากมีการซื้อผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมของผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการทักท้วงจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่าข้อกำหนดดังกล่าวอาจขัดกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT) และความตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า (TRIMs) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

การพิจารณาแนวทางการปรับปรุงประกาศของ กทค. ในวาระนี้ นอกจากต้องพิจารณาในประเด็นที่มีการทักท้วงเรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่อาจขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่ กทค. สมควรพิจารณาและให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับนี้ด้วย คือส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่สร้างผลตอบแทนต่ำ แต่ให้ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมสูง เช่น เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเทคโนโลยีประเภทดังกล่าวจะเผชิญกับปัญหาการลงทุนเนื่องจากมีผลตอบแทนต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนเทคโนโลยีเพื่อการค้าที่มีลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูงอยู่แล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นสำหรับการสนับสนุนมากนัก เนื่องจากภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีไปได้เอง