กองทุน กทปส., ถ่ายทอดสดโอลิมปิก, วอยซ์ทีวี, แนวทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือมายัง กสทช., การพิจารณาหนังสือแจ้งตอบเกี่ยวกับการจัดให้มีช่องโทรทัศน์ประชารัฐต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ผังรายการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์, การขอเพิ่มเติมประเภทบริการโทรทัศน์ไอพี(IPTV) เพื่อให้บริการโครงข่ายไม่ใช้คลื่นระดับชาติ ของบริษัทพีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด, แต่งตั้งคณะทำงานทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศฯ, Gang Cartoon, ละเมิดลิขสิทธิ์, สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการพลังงานทหารเชียงใหม่ AM 711 KHz, ช่อง ปิ๊ง ชาแนล ช่อง Hero Channel, ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์(ฉบับ 4)

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 20/2559 วันจันทร์ที่ 20 มิ.ย.นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31 ปี 2016 ของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทรท.) ภายหลังจาก กสท.เสียงข้างมากมีมติมอบหมายให้สำนักงานส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) นั้น ต่อมา เมื่อวันที่ 7มิ.ย. 59 กรรมการ กทปส.ได้เห็นชอบตามมติคณะทำงานพิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดการแข่งขันโอลิมปิกของ ทรท. ว่า เพื่อความรอบคอบในเรื่องนี้จึงเห็นควรให้ขอความเห็นมายัง กสท. 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ได้แก่ 1.รายการแข่งขันโอลิมปิก ถือเป็นบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555(Must Have) ซึ่งถือว่าเข้าข่ายเป็นรายการที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา 52 ของ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พ.ศ. 2551 หรือไม่  ทั้งนี้ มาตรา 52 มีบทบัญญัติ ว่า“ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า รายการใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการหรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิขอคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา 36  คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และประเด็น2. หากเห็นว่าสมควรได้รับการสนับสนุนควรจะพิจารณาอย่างไรในระหว่างที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประเด็นข้อกฎหมายที่บอร์ด กสท.เสียงข้างมากต้องตอบหลังเห็นชอบให้เสนอขอโครงการงบประมาณ 150 ล้านบาทดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็นกระทบการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในวงการทีวีระหว่างรายเดิมกับรายใหม่  ดิฉันถึงได้ค้านตั้งแต่แรกเช่นเดียวกับช่องทีวีดิจิตอลรายใหม่ๆที่ส่งเสียงคัดค้านการให้ทุนเฉพาะ 4 ช่องเดิมด้วย หวังว่า กสท.จะพิจารณาเรื่องนี้ใหม่อย่างรอบคอบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณาวาระจากคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหาเสียงข้างมากเสนอให้ กสท.มีคำสั่งระงับการออกอากาศรายการ Tonight Thailand วันพุธที่ 25 พ.ค.59 ทางช่องVoice TV เนื่องจากมีเนื้อหารายการต้องห้ามตามประกาศ คสช.ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งขัดต่อบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. ทั้งนี้ สุภิญญากล่าวว่า นับไม่ถ้วนแล้วที่อนุกรรมการฯเสนอให้ กสท. พิจารณาเอาผิดกับช่องวอยซ์ทีวี แต่ กสท.ยังไม่สามารถลงมติว่าผิดกฎหมายมาตรา 37 ตามปรกติของ กสทช. เนื่องเพราะการทำข่าวและความเห็นในรายการยังไม่ถือว่าล้ำเส้นขัดความมั่นคง รอบนี้อนุกรรมการฯ จึงได้เสนอว่าขัดกฎหมายพิเศษและเงื่อนไขข้อตกลงของช่องเอง รวมทั้งเสนอให้พักรายการ 3 วัน ซึ่งไม่ทราบว่าทางช่องจะเต็มใจพักรายการไหมเพราะก่อนนี้ได้ยินยอมพักรายการมาแล้ว ส่วนตัวดิฉันเห็นว่า ว่าการนำเสนอข่าวช่องนี้ยังไม่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการตั้งคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชนหรือแม้แต่การปฏิรูปประเทศนั้นสื่อควรทำได้ 

 “รอบนี้อนุกรรมการฯ ยกประเด็นที่พูดวิจารณ์การทำงานของตำรวจที่มีบางเรื่องว่าช่องยังขาดข้อเท็จจริงรองรับแต่เรื่องนี้สื่ออื่นๆก็พูดถึงกันทั่วไป เพราะทางตำรวจได้ออกมาฟ้องร้องคนที่วิจารณ์ด้วย ถ้าหน่วยงานรัฐหรือทางตำรวจเองเห็นว่า การนำเสนอใดของช่องไม่ถูกต้องก็ควรใช้สิทธิ์ขอโต้แย้งไปที่ช่องให้แก้ไขก่อน น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดมากกว่า กสทช.จะมาตามลงโทษหรือแบนสื่อเพราะเป็นการเซ็นเซอร์สังคมจากการตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐในมิติต่างๆด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากวอยซ์ทีวีเองเป็นฟรีทีวีที่มีจุดอ่อนเรื่องความความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับพรรคการเมืองและมีจุดยืนที่สังคมเห็นได้ชัด จึงทำให้ถูกฝ่ายรัฐจับตาเป็นพิเศษ  จึงเป็นความท้าทายของช่องที่ต้องพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพให้สังคมเชื่อมั่นมากกว่าช่องอื่นๆ โดยยึดหลักจรรยาบรรณเคร่งครัด การเน้นข้อเท็จจริงและมุมมองที่รอบด้านจะช่วยได้มากในการถูกตรวจสอบเข้ม   ส่วนผู้มีอำนาจยุคนี้ก็ต้องทำใจว่า ในการบริหารบ้านเมืองนั้นควรปล่อยให้มีเสียงของฝ่ายค้านมาตรวจสอบถ่วงดุลบ้าง เพราะเป็นประโยชน์ของสาธารณะ แม้ว่าช่วงนี้จะถือว่าไม่ใช่สถานการณ์ปรกติก็ตาม ส่วนผลการลงมติกรณีรอบนี้จะเป็นอย่างไร ต้องรอฟัง เพราะครั้งที่แล้วก็ยังไม่ได้มติที่ชัดเจนเพราะกรรมการเสียงแตกต่างกันหลายมุมมอง” สุภิญญา กล่าว

วาระอื่นๆ น่าจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ วาระการชี้แจงแนวทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายของผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลทั้ง 8 ราย ตามที่สำนักปลัดสำนักยกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือมายัง กสทช. เพื่อขอให้พิจารณาข้อร้องเรียนและแจ้งผลให้ผู้ร้องทราบโดยตรงซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่ได้มีการยื่นฟ้องร้อง กสทช.ในชั้นศาล วาระการพิจารณาหนังสือแจ้งตอบเกี่ยวกับการจัดให้มีช่องโทรทัศน์ประชารัฐต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วาระการเปลี่ยนแปลงผังรายการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ วาระการขอเพิ่มเติมประเภทบริการโทรทัศน์ไอพี(IPTV) เพื่อให้บริการโครงข่ายไม่ใช้คลื่นระดับชาติ ของบริษัทพีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด วาระแต่งตั้งคณะทำงานทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศฯ วาระเรื่องร้องเรียน ช่อง Gang Cartoon ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์การ์ตูน วาระการพิจารณาให้ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเป็นการชั่วคราวในกิจการกระจายเสียง สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการพลังงานทหารเชียงใหม่ AM 711 KHz วาระการพิจารณาให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ช่อง ปิ๊ง ชาแนล ช่อง Hero Channel วาระ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์(ฉบั4) และวาระอื่นๆ ติดตามความคืบหน้าวาระอื่นๆ ในการประชุมวันจันทร์…