กสท.เตรียมต่อใบอนุญาตทีวีดาวเทียมแบบมีเงื่อนไข, โครงข่ายดิจิตอลทีวี, MOU โครงข่ายระยะแรก, บริการแบบประยุกต์, เรตติ้ง

จับตาวาระ กสท. จันทร์ 20 ม.ค. นี้

กสท.เตรียมต่อใบอนุญาตทีวีดาวเทียมแบบมีเงื่อนไข 1 – 2 ปี ด้านโครงข่ายดิจิตอลทีวี เตรียมลงนามทำความเข้าใจการวางโครงข่ายสถานีร่วมกันในระยะแรก และ นิยามใหม่ “การให้บริการแบบประยุกต์”

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 3/57 นี้ เตรียมพิจารณาต่อใบอนุญาตทีวีช่องทีวีดาวเทียม หรือ กิจการโทรทัศน์ประเภทไม่ใช้คลื่นความถี่ ในการยื่นคำขออนุญาตใหม่กรณีที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง 1 ปี โดยคณะอนุกรรมการกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมฯ พิจารณาตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 และประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 เห็นว่าให้มีการต่อใบอนุญาต แบบ 2 ปี ทั้งแบบมีและไม่มีเงื่อนไข โดยดูจากเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน และยังไม่ปรากฏข้อยุติ รวมทั้งการต่อใบอนุญาตแบบ 1 ปี สำหรับช่องที่มีคำสั่งลงโทษทางปกครอง ซึ่ง ตนมีความเห็นที่อยากเสนอในที่ประชุมว่า “ให้ชะลอการต่อใบอนุญาตออกไปก่อนสำหรับสถานีที่เคยถูกเตือน ปรับ หรือถูกดำเนินคดีกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จนกว่าสถานีนั้นๆจะไปขออนุญาตการโฆษณาให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อน ถึงค่อยต่อใบอนุญาต เพราะถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย หากเราต่อใบอนุญาตไปโดยไม่มีเงื่อนไขอาจทำให้ยากต่อการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป…” นางสุภิญญา กล่าว

ส่วนความคืบหน้าเรื่องทีวีดิจิตอล ที่ประชุมได้เตรียมพิจารณาวาระ บันทึกความเข้าใจ เรื่อง แผนการดำเนินการเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระยะที่ 1 ระหว่าง สำนักงานกสทช. กองทัพบก(สถานีวิทยุโรทัศน์กองทัพบก) บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ร่วมรับผิดชอบ ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะกรอบแนวทางการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการขยายโครงข่ายให้สามารถครอบคลุมครัวเรือนทั้งประเทศ อย่างน้อย ร้อยละ 50 ครัวเรือน ภายใน 1 ปี ร้อยละ 80 ภายใน 2 ปี ร้อยละ 90 ภายใน 3 ปี และร้อยละ 95 ภายใน 4 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และรวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์จากทีวีดิจิตอลด้วย

และอีกวาระน่าจับตา ได้แก่ วาระสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางการดำเนินการต่อ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดประเภท หรือให้นิยามใหม่เพิ่มเติมของกิจการ “การให้บริการแบบประยุกต์” ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทั้งนี้ นิยามเดิมคือ “การให้บริการแบบประยุกต์ หมายความว่า การให้บริการข้อมูล การให้บริการสื่อประสม หรือการให้บริการอื่นทำนองเดียวกัน ที่ผ่านทางการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งไม่ใช่บริการโทรคมนาคม และให้รวมถึงการให้บริการสำรวจความนิยมในกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดหรือไม่ก็ตาม” ซึ่งนิยามใหม่ในประกาศจะเป็นอย่างไร ชวนจับตา….

ต่อกรณีมีคลื่นสัญญาณกวนสถานีทีวีดาวเทียม ช่องบลูสกาย แม้จะยังหาสาเหตุต้นตอที่แน่ชัดไม่ได้ แต่จากการหารือร่วมกันสามฝ่าย (กสทช. ไทยคม และ บลูสกาย) ที่ผ่านมานั้น ทางไทยคมได้เตรียมช่องสำรองหากเกิดการรบกวนสัญญาณ ขอฝากให้คนดูช่วยตรวจสอบช่องสำรองใหม่จากช่องเดิมของบลูสกายด้วย รวมทั้งฝากผู้ให้บริการแพลทฟอร์มจานดำ อย่าง PSI ให้ข้อมูลผู้บริโภคอีกทาง…