ผลศึกษา:พบเนื้อหาระดับชี้ช่องการพนันบอลยูโร ในสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน ไม่พบในสื่อวิทยุ และ โทรทัศน์

Poster Pr 040659

โครงการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาการพนันฟุตบอลยูโร 2016 ในสื่อหลักและสื่อออนไลน์

Media Monitor  มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา

(Foundation for Media Studies)

เลขที่ 10 ห้องที่ 10 ถ.พหลโยธิน ซอย 3

แขวงสามเสนใน เขตพญาไท

กทม. 10400

โทร : 02-279-9173

Email: [email protected]

Website : www.mediamonitor.in.th

เนื้อหาการพนันฟุตบอลยูโร 2016

ในสื่อหนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์ 

และหนังสือพิมพ์รายวัน

เอกสารเผยแพร่ Press Release                                                                                4 กรกฎาคม 2559

 

พบเนื้อหาระดับชี้ช่องการพนันบอลยูโร ในสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน ไม่พบในสื่อวิทยุ และ โทรทัศน์

 

บอลยูโร 2016 เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในช่วงสัปดาห์แรกของการแข่งขัน หรือ ในช่วง 24 ทีม มีเดียมอนิเตอร์ ได้ทำการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ระดับเนื้อหาที่เกี่ยวกับ บอลยูโร 2016 และการพนัน ในสื่อหลัก คือ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และ หนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งนี้หน่วยการศึกษา คือ 1) สื่อโทรทัศน์ 6 ช่อง  ได้แก่  3 ช่องที่ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด (3 Family ,3 SD , 3 HD) 2 ช่องที่ได้รับความนิยมใน 3 อันดับแรกในช่วงเวลาที่ศึกษา ได้แก่  7 HD และ  Workpoint  กับ SMM TV  โทรทัศน์ดาวเทียม ในเครือบริษัท สยามสปอร์ต เจ้าของสื่อและคอนเทนต์กีฬาอันดับ1 ของประเทศ 2) สื่อวิทยุกระจายเสียง คือ 2 คลื่นกีฬาทางออนไลน์  ได้แก่ FM 96 สปอร์ตเรดิโอ  และ FM 99 แอคทีฟเรดิโอ  กับ 1 วิทยุออนไลน์ คือ  NR Sports Radio บนหน้าเว็บไซต์ www..nrsportsradio.com ซึ่งมี Facebook Page ด้วย 3)  หนังสือพิมพ์รายวัน  4 ฉบับ ได้แก่  ไทยรัฐ  เดลินิวส์  คมชัดลึก  ข่าวสด โดยทำการศึกษา ในวันที่ 10,12,14,16 มิถุนายน 59  สำหรับ สื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ศึกษาระหว่างเวลา 15.00-23.00 น.

ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ ใช้เกณฑ์การศึกษาระดับเนื้อหาการพนัน เช่นเดียวกับการศึกษาฟุตบอลโลก 2014 คือ เกณฑ์ IPHG  โดย Information เป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการแข่งขันบอลยูโร 2016   Prediction เป็นข้อมูลที่คาดการณ์ หรือ ทำนายผลการแข่งขัน อย่างไม่ระบุสัดส่วนต่อรอง หรือจำนวนประตูการแพ้ชนะ    Handicap  เป็นข้อมูลที่ระบุอัตราต่อรอง เปอร์เซ็นต์ความได้เปรียบเสียเปรียบ โอกาสยิงประตู   Gambling  เป็นข้อมูลที่ชี้ช่องทาง หรือ แนะนำวิธีการพนันบอลยูโร 2016  ทั้งนี้ มีการสำรวจเนื้อหาการรณรงค์ต่อต้านการพนันบอล และ การชิงโชคในบอลยูโร 2016 ในสื่อที่เป็นหน่วยการศึกษาด้วย

ในภาพรวม กล่าวได้ว่า สื่อโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินที่ศึกษา รวมทั้ง สื่อวิทยุกระจายเสียงคลื่นกีฬาที่ศึกษาทางออนไลน์ มีความระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาบอลยูโร อย่างไม่ให้เกี่ยวข้องกับการชี้ช่องทางหรือวิธีการพนัน แต่มีการให้ข้อมูลระดับ Handicap ในวิทยุคลื่นกีฬา ในขณะที่โทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุออนไลน์บนหน้าเว็บไซต์ที่เป็นหน่วยการศึกษา รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับ มีการให้ข้อมูลถึงระดับ G คือชี้ช่องทางหรือวิธีการพนันบอลยูโร 2016

ผลการศึกษาสื่อโทรทัศน์ พบว่า ช่อง SMM TV เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลยูโร 2016 มากที่สุด จำนวน 7 รายการ รองลงมาคือ ช่อง 3 SD (6 รายการ) ช่อง 3 HD ( 5 รายการ) ช่อง 3 Family ( 3 รายการ) ส่วนช่อง 7 HD และช่อง Workpoint พบน้อยที่สุด จำนวน 1 รายการเท่ากัน

เมื่อใช้เกณฑ์ IPHG โดยประเมินวัดที่ระดับสูงสุดในแต่ละรายการที่ศึกษา พบว่า ระดับ I (Information) ช่อง 3 SD พบมากที่สุด (5 รายการ) รองลงมา คือ ช่อง 3 HD และ ช่อง SMM TV ( ช่องละ 3 รายการ) ส่วน ช่อง 3 Family (2 รายการ) และช่อง 7 HD  (1 รายการ) ไม่พบ ในช่อง Workpoint ระดับ P (Prediction) พบเท่ากัน (2 รายการ)ใน ช่อง 3 HD และช่อง SMM TV ส่วนช่อง 3 Family และ ช่อง 3 SD พบ 1 รายการเท่ากัน ไม่พบ IPHG ในช่อง 7 HD และช่อง Workpoint ระดับ H (Handicap) พบในช่อง SMM TV เพียงช่องเดียว (2 รายการ) ระดับ G (Gambling) ไม่พบ ในทุกช่อง

ผลการศึกษาสื่อวิทยุกระจายเสียง พบว่า วิทยุออนไลน์ FM 96 สปอร์ตเรดิโอ และ FM 99 แอคทีฟเรดิโอ มีเนื้อหารายการเกี่ยวกับฟุตบอลยูโร 2016 ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน คือ  10 รายการ (FM 96) และ 9 รายการ (FM 99)

เมื่อใช้เกณฑ์ IPHG โดยประเมินวัดที่ระดับสูงสุดในแต่ละรายการที่ศึกษา พบว่า ระดับ I (Information) มีการนำเสนอมากที่สุดในทั้ง 2 สถานี คือ FM 96 สปอร์ตเรดิโอ (5 รายการ) และ FM 99 แอคทีฟเรดิโอ (4 รายการ) ระดับ P (Prediction) พบค่อนข้างน้อย คือ  FM 99 แอคทีฟเรดิโอ( 2 รายการ) FM 96 สปอร์ตเรดิโอ (1 รายการ) ระดับ  H (Handicap) FM 96 สปอร์ตเรดิโอ พบ 4 รายการ FM 99 แอคทีฟเรดิโอ พบ 3 รายการ  ระดับ G (Gambling) ไม่พบในทั้ง 2 สถานี

ในส่วนวิทยุออนไลน์ NR Sports Radioซึ่งไม่มีผังรายการแน่นอน ส่วนใหญ่เสนอเพลง โดย Auto DJ  พบเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลยูโร 2016 ในวันที่ 14 และ 16 มิ.ย. 59  โดยวันที่ 14 ระดับสูงสุดที่พบ คือ G -Gambling  ที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนรายการหลักซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล พร้อมข้อความเชิญชวนให้สมัครสมาชิกเว็บไซต์นั้นๆในวันที่ 16 มิย. ระดับสูงสุดที่พบ คือ P-Prediction พบในช่วงพากย์สดถ่ายทอดการแข่งขัน ทั้งนี้ ลีลาการพากย์สดการแข่งขัน จะ “เกรียนสุดๆ”แทรกการใช้ภาษาเชิงหยาบคาย เช่น คำสบถ คำด่า และในบางครั้งมีการใช้ภาษาส่อทางเพศด้วย

เว็บไซต์  www.nrsportsradio.com พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์การพนันฟุตบอลต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบของแบนเนอร์ที่เป็นสปอนเซอร์ของรายการในคลื่นวิทยุออนไลน์ ขณะที่พบ เฟซบุ๊กเพจfacebooknrsportradio มีการโฆษณาเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการพนันฟุตบอล และพบข้อความส่งเสริมการพนันฟุตบอลในช่วงนำเสนอช็อตเด็ดของการแข่งขัน

 

สื่อหนังสือพิมพ์รายวัน  เมื่อวิเคราะห์สัดส่วนที่เกี่ยวกับบอลยูโร 2016 ในหน้ากีฬาของหนังสือพิมพ์รายวันที่ศึกษา พบว่า เดลินิวส์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลยูโร 2016 มากที่สุด คือร้อยละ 70.4 รองลงมาคือ  ข่าวสด (ร้อยละ 50.5)  คมชัดลึก (ร้อยละ 47.4) ไทยรัฐ (ร้อยละ 45.2)

 

เมื่อใช้เกณฑ์ IPHG โดยประเมินวัดที่ระดับสูงสุดในแต่ละเนื้อหาที่ศึกษา พบว่า ระดับ I (Information) พบในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ศึกษา โดยข่าวสดมีมากที่สุด (ร้อยละ 48) รองลงมาคือ ไทยรัฐ (ร้อยละ 42.7)  เดลินิวส์ (ร้อยละ 32.4) และคมชัดลึก (ร้อยละ 26.4) ระดับ P (Prediction) พบใน เดลินิวส์ (ร้อยละ 8) และ ไทยรัฐ (ร้อยละ 1.5) ระดับ H (Handicap) พบใน เดลินิวส์และคมชัดลึก ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 21.5  และ ร้อยละ 21 ตามลำดับ ระดับ G (Gambling) พบเพียง ในเดลินิวส์ (ร้อยละ 2.1)

 

การรณรงค์ต่อต้านการพนันบอล  ในสื่อที่เป็นหน่วยการศึกษา สื่อโทรทัศน์ ไม่พบเนื้อหารณรงค์ต่อต้านการพนันในทุกช่องที่ศึกษา สื่อวิทยุ พบในคลื่น FM 99 Sport Radio จำนวน 11 ครั้ง จาก 2 รูปแบบ คือ เนื้อหา รณรงค์ต่อต้านการพนันโดยกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม (6 ครั้ง) และ ในรายการที่ผู้ดำเนินรายการพูดรณรงค์ต่อต้านการพนันบอล (5 ครั้ง) โดยพบในทุกวันที่ทำการศึกษา และมีจำนวนครั้งที่พบเพิ่มขึ้นในทุกวัน คือ 10 มิ.ย.พบ 1 ครั้ง 12 มิ.ย.พบ 2 ครั้ง  14 และ 16 มิ.ย. พบ 4 ครั้งเท่ากัน สื่อหนังสือพิมพ์รายวัน พบในข่าวสด (ร้อยละ 2.5) วันที่ 10 มิ.ย.  และ ไทยรัฐ (ร้อยละ 1) พบในวันที่ 12 มิ.ย.

 

การชิงโชคในบอลยูโร 2016  สื่อโทรทัศน์ พบใน ช่อง 3 HD ( 2 ครั้ง) ในรายการ “เรื่องเด่นยูโร” วันที่ 14 และ 16 มิ.ย  ในกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัล  ช่อง Workpoint และช่อง SMM TV พบช่องละ 1 ครั้ง ในข่าวการจัดกิจกรรมทายผลผู้ชนะของไปรษณีย์ไทย สื่อวิทยุ พบใน FM 99 Active Radio (9 ครั้ง) ในกิจกรรมเล่นเกมตอบคำถามผ่าน SMS (8 ครั้ง) และส่งไปรษณีย์ชิงโชคลุ้นแชมป์กับไปรษณีย์ไทย (1 ครั้ง)  FM 96 Sport Radio (6 ครั้ง)ในกิจกรรมตอบคำถามทางโทรศัพท์เพื่อชิงรางวัล เช่นเดียวกับ FM 96 Sport Radio สื่อหนังสือพิมพ์รายวัน พบในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับเดียว มีการนำเสนอเนื้อหาการชิงโชคทั้ง 4 วันที่ศึกษา 10 มิ.ย.(ร้อยละ 2) วันที่ 12 และ 14 มิ.ย. (ร้อยละ 1.8 เท่ากัน) 14 มิ.ย.(ร้อยละ 0.8) โดยนำเสนอในรูปแบบภาพข่าว และการชวนร่วมกิจกรรมชิงรางวัล ซึ่งเป็นกิจกรรมของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เอง ในชื่อ “ลุ้นแชมป์ยูโร 2016 ลุ้นโชคกับเดลินิวส์”

 

ภาพแผนภูมิแสดง IPHG ที่พบในแต่ละกลุ่มสื่อ

 

 

 

 

การวิเคราะห์เปรียบเทียบในแต่ละวันที่ศึกษา

วันที่ 10 มิ.ย.59 ซึ่งเป็นวันแรกของการแข่งขัน พบว่าเนื้อหาที่นำเสนอในแต่ละสื่อยังพบค่อนข้างน้อย เนื้อหาส่วนใหญ่คือการให้ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับฟุตบอลยูโร 2016 เป็นหลัก ขณะที่ข้อมูลการคาดการณ์/ทำนายผล ทั้งที่ระบุและไม่ระบุอัตราแพ้-ชนะ จะพบจากสื่อวิทยุมากกว่าสื่ออื่น ๆ

วันที่ 12 มิ.ย.59  สื่อที่เห็นได้ชัดว่ามีการนำเสนอเนื้อหาเพิ่มมากขึ้นจากวันที่ 10 มิ.ย. คือ สื่อหนังสือพิมพ์รายวัน แม้เนื้อหาที่พบยังเน้นที่การให้ข้อมูลข่าวสารทั่วไปเป็นหลัก ขณะเดียวกันพบเนื้อหาที่แจ้งแหล่งรับพนันในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อเดียวที่ไปถึงเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว ส่วนสื่อโทรทัศน์และวิทยุ พบจำนวนรายการเพิ่มมากขึ้นกว่าวันแรก แต่ในจำนวนเพียงเล็กน้อย

วันที่ 14 มิ.ย.59  สื่อหนังสือพิมพ์มีสัดส่วนที่พบใกล้เคียงกับวันที่ 12 มิ.ย. แต่ยังพบเนื้อหาที่ไปถึงการแจ้งแหล่งพนันเช่นเดียวกับวันที่ 12 มิ.ย. ขณะที่สื่อโทรทัศน์และวิทยุ วันนี้ (14 มิย.) เป็นวันที่พบจำนวนรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลยูโรมากที่สุด โดยเฉพาะในสื่อวิทยุที่พบทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร การคาดการณ์/ทำนายผล ทั้งที่บอกและไม่บอกอัตราแพ้-ชนะ ในระดับที่ชัดเจนที่สุด ขณะที่ในสื่อโทรทัศน์ยังเน้นที่การให้ข้อมูลทั่วไปเป็นหลัก

วันที่ 16 มิ.ย.59  ทุกสื่อมีการนำเสนอเนื้อหาบอลยูโรน้อยลง เมื่อเทียบกับวันที่ 14 มิ.ย. โดยสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์มีจำนวนลดลงเพียงเล็กน้อย แต่สื่อวิทยุกลับมีจำนวนรายการลดลงอย่างเห็นชัด แต่ลดในส่วนของเนื้อหาที่ให้ข้อมูลทั่วไป แต่ส่วนของการคาดการณ์ที่บอกอัตราต่อรองกลับเพิ่มสูงขึ้น

กล่าวโดยสรุป สื่อหนังสือพิมพ์รายวัน มีความคงตัวในการนำเสนอเนื้อหาฟุตบอลยูโร 2016 มากที่สุด ทั้งสัดส่วนในภาพรวม และสัดส่วนเนื้อหาแต่ละระดับ (IPHG) ขณะที่ สื่อโทรทัศน์ มีจำนวนรายการที่เปลี่ยนแปลงไม่มากเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังรายการของช่องโทรทัศน์ค่อนข้างตายตัว รายการที่พบมักจะเป็นรายการเดิม ๆ ที่ออกอากาศในทุกวัน และเนื้อหาที่พบในแต่ละรายการก็มักจะเป็นในระดับเดิม เช่น รายการใดที่ให้ข้อมูลถึงการบอดอัตราต่อรอง ก็จะพบในลักษณะนั้นทุกวัน ขณะที่ สื่อวิทยุกระจายเสียง เป็นสื่อที่มีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันที่เห็นชัดที่สุด เนื่องจากผังรายการของวิทยุมีการเปลี่ยนแปลงและรายการที่นำเสนอก็จะแตกต่างกันในไปแต่ละวัน ทำให้บางวันตัวเลขของรายการที่พบเนื้อหาที่บอกอัตราต่อรองค่อนข้างสูง แต่บางวันกลับไม่พบเลย

 

มีเดียมอนิเตอร์ จะนำเสนอ ภาพรวมของผลการศึกษาระดับเนื้อหาการพนันบอลยูโร 2016  ในช่วงวันที่ 10 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2559 ทั้งในสื่อหลัก และสื่อออนไลน์ ในช่วงเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม นี้ในงานการแถลงผลการสำรวจการพนันของนักเรียนระดับมัธยมและอาชีวศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะนำเสนอทาง www.mediamonitor.in.th ภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

……………………………………….

ดาวน์โหลดรายงาน คลิ้กที่นี่!!

Loader Loading...
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab