เปิดความเห็น : ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 ได้มีการพิจารณาวาระที่ 5.1 เรื่อง ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล  นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ขอเปิดเผยความเห็นเพิ่มเติมเพื่อบันทึกในรายงานการประชุม ดังต่อไปนี้

1. แนวทางการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยการแจกคูปองเพิ่มเติม

เนื่องจากกรณีการแจกคูปองเป็นประเด็นที่ผู้รับใบอนุญาตฯ ได้ฟ้อง กสทช. ว่าดำเนินการด้วย
ความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดิฉันจึงเห็นว่า สำนักงานฯ จำเป็นต้องยืนยันและเร่งรัดทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้นโยบายการแจกคูปองมีความครบถ้วนตามจำนวน 22.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งประเด็นนี้ได้มีข้อกำหนดไว้ในประกาศหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ฯในการนำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในส่วนของราคาขั้นต่ำเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง ทั้งนี้การแจกจ่ายคูปองควรต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่โครงข่ายขยายครอบคลุมครัวเรือนทั้งประเทศเพื่อให้เป็นไปตามประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกำหนดให้การขยายโครงข่ายครอบคลุมครัวเรือนทั้งประเทศอย่างน้อยร้อยละ 95 ของจำนวนครัวเรือนภายใน 4 ปี ซึ่งสำนักงานฯ ได้ออกใบอนุญาตโครงข่ายฯ แล้วตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2556

  1. การเลื่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ งวดที่สาม

ดิฉันเห็นว่า การเลื่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำนักงานฯ ควรดำเนินการตามประกาศหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่กำหนดว่า กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็นจำนวนเท่ากับผลคูณจำนวนเงินค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 คูณกับสัดส่วนของจำนวนวันที่ค้างชำระต่อจำนวนวันในหนึ่งปี (360 วัน) ทั้งนี้การชำระเงินค่าธรรมเนียมที่เกินกำหนดระยะเวลานั้น กสท.ควรนำพฤติกรรมและเจตนาของผู้รับใบอนุญาตมาประกอบการใช้ดุลพินิจด้วย ซึ่งในกรณีของบริษัท ไทยทีวี จำกัด นั้น ผู้รับใบอนุญาตได้แจ้งขอยกเลิกประกอบกิจการและยุติการออกอากาศช่องรายการไทยทีวี และช่องรายการ MVTV FAMILY ซึ่งกรณีการขอยกเลิกการประกอบกิจการดังกล่าว ที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 18/2558 ได้มีมติในเรื่องหลักเกณฑ์การขอยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ ดังนั้นดิฉันจึงเห็นว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่มีพฤติการณ์เดียวกัน สำนักงานฯ ควรดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

  1. การคืนใบอนุญาต

ดิฉันเห็นว่า การพิจารณาเรื่องการคืนใบอนุญาต กสทช.ควรคำนึงถึงภาพรวมในการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประมูล ได้มีการจัดแบ่งหมวดหมู่การให้บริการ เป็น 4 หมวดจำนวน 24 ช่องรายการ ประกอบด้วย หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว กำหนดไว้จำนวน 3 ช่อง หรือหมวดหมู่ข่าวสารและสาระจำนวน 7 ช่องรายการ เป็นต้น การกำหนดหมวดหมู่เช่นนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับชมเนื้อหารายการที่มีความหลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ  อีกทั้งใบอนุญาตของแต่ละช่องมีระยะเวลายาวนาน 15 ปี ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการแสดงความประสงค์ในการยุติการประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาต กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลควรพิจารณาแนวทางการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและรัฐไม่เสียประโยชน์ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาตภายใต้เงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด หรือพิจารณาข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยที่เสนอในเรื่องการเปลี่ยนมือผู้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ  เป็นต้น

  1. การจัดลำดับรายการโทรทัศน์

การที่ กสทช.ไม่สามารถกำกับให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีออกอากาศโดยเรียงหมายเลขช่องตามประกาศฯ ได้นั้น ส่งผลให้เป็นเหตุแห่งการฟ้องร้องคดีนั้น ดิฉันเห็นว่า กรณีนี้ สำนักงานฯ ควรมีมาตรการบังคับและการลงโทษในขั้นที่สูงขึ้นแก่ผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

  1. การประชาสัมพันธ์

โครงการจัดจ้างผู้ผลิตและจัดการดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่อและกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ภายใต้กรอบวงเงิน 63.5 ล้านบาท เป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการของร่างขอบเขตการดำเนินงานจากที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 11/2557  เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 บัดนี้ได้ล่วงเลยเวลามาปีเศษแล้ว ยังคงมิได้ดำเนินการกิจกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด จนนำไปสู่การเป็นเหตุแห่งการฟ้องร้องคดีว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับทีวีดิจิตอลไม่เป็นไปตามเป้าหมายทำให้ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจ ดิฉันเห็นว่า สำนักงานฯ ควรเร่งดำเนินการโครงการนี้โดยเร็วและมีการปรับปรุงเนื้อหาที่ใช้ในการสื่อสารแก่ประชาชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้อย่างคุ้มค่ากับการใช้จ่ายงบประมาณและการดำเนินการที่เป็นไปด้วยความล่าช้า

  1. การสำรวจความนิยม

ในประเด็นการสำรวจความนิยม  ดิฉันเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานฯ ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยใช้เงินงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากเห็นว่า การพัฒนาระบบการวัดระดับความนิยมของสื่อ (เรตติ้ง) จะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์เกิดการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการประกอบกิจการโทรทัศน์และจะส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมบนฐานข้อมูลและโอกาสที่เท่าเทียมกัน”

Comment-NBTC-extra-2-59