พิจารณาขยายระยะเวลาของคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5, ร่างประกาศ กสทช.เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. …, การปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนและฐานเงินเดือน

ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ ๗/๒๕๕๙ เมื่อวันพุธที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ มีความเห็น
ในการพิจารณา ๓ วาระ ดังนี้

วาระที่ ๕.๑.๑ พิจารณาขยายระยะเวลาของคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕

“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ เช่นเดียวกับที่ได้มีความเห็นในการพิจารณาชั้นประชุม กสท. ครั้งที่ ๒๕/๒๕๕๙ ตามบันทึกข้อความที่ สทช.๑๐๐๓.๙/๑๓๔ เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙
ทั้งนี้ดิฉันไม่เห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อผลการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ของคณะทำงานฯ ซึ่งพบว่า ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากกองทัพบกยังไม่มีการนำข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องให้คณะทำงานพิจารณา ทั้งในเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กร ด้านเนื้อหาและรายการ ด้านการหารายได้ และด้านเทคนิค นอกจากนี้ในด้านเนื้อหาและรายการ แม้จะมีการประเมินว่า
มีการนำเสนอเนื้อหารายการที่เป็นข่าวสารและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
กล่าวคือ รายการข่าวสารและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในปี ๒๕๕๘ ระบุว่า อยู่ในสัดส่วนร้อยละ ๖๕.๓๓ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐.๖๔ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวมิได้แสดงถึงคุณภาพ
ในการปรับเปลี่ยนเนื้อหารายการไปสู่ประเภทบริการสาธารณะประเภทที่ ๒ เพื่อความมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนที่กรรมการจะสามารถนำมาประเมินถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนฯ ได้ นอกจากนี้ตามที่รายงานระบุว่า
ในปี ๒๕๕๗ มีรายการข่าวสารและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในสัดส่วนมากถึงร้อยละ ๙๒.๙๖ นั้น
ดิฉันเห็นว่า ควรได้รับการตรวจสอบเนื่องจากขัดต่อข้อเท็จจริงที่มีการออกอากาศ”

วาระที่ ๕.๒.๒ ร่างประกาศ กสทช.เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. …

“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยเห็นสอดคล้องกับ กสทช. ประวิทย์ฯ ว่า อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายฯ ตามร่างประกาศ กสทช. ฉบับที่สำนักงานเสนอในครั้งนี้ ยังขาดความเหมาะสมสำหรับใช้เป็นอัตราอ้างอิง เนื่องจากอัตราดังกล่าวยังไม่สะท้อนต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายฯ ที่แท้จริง มีการถ่ายโอนต้นทุนจากการประมูลคลื่นความถี่ ส่งผลให้อัตราเชื่อมต่อโครงข่ายฯ มีอัตราสูงเป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับผู้ให้บริการขนาดเล็ก โดยเฉพาะผู้ให้บริการประเภทโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator)  อีกทั้งอัตราอ้างอิงดังกล่าวยังมีระยะเวลากำกับดูแลที่สั้นไม่สอดคล้องกับหลักการคำนวณต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาว จนอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการกำกับดูแล”

               วาระที่ ๕.๒.๓ การปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนและฐานเงินเดือน

               “ดิฉันขอเปิดเผยความเห็นในการพิจารณาเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนและฐานเงินเดือน  เนื่องจาก มติที่ประชุม กสทช.ครั้งนี้เป็นการพิจารณาหลักการการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานและลูกจ้างและการปรับฐานเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานฯ ตั้งแต่ตำแหน่งระดับปฏิบัติการระดับ ก ๓ ถึงระดับบริหารระดับ บ ๒ ตามที่สำนักงานฯ เสนอ อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนฯ สำนักงานฯ ควรนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา โดยมีเหตุผลดังนี้

  • เนื่องจากในเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๗ ได้มีการอนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือน การปรับฐานเงินเดือนและการกำหนดเงินประจำตำแหน่งมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายในครั้งนั้น สำนักงานฯ เสนอลดกรอบเงินเดือนของตำแหน่งระดับสูงลงและเพิ่มกรอบเงินเดือนของตำแหน่งระดับล่างขึ้น เพื่อให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมและ
    ลดช่องว่างความแตกต่างของอัตราเงินเดือนระหว่างตำแหน่งระดับสูงกับตำแหน่งระดับล่างลง ขณะที่ การนำเสนอหลักการเพื่อขอเพิ่มอัตราเงินเดือนและปรับฐานเงินเดือนใหม่ในครั้งนี้โดยเสนอให้ปรับเพิ่มเฉพาะตำแหน่งบริหาร ระดับผู้อำนวยการสำนัก บ๒ และผู้อำนวยการส่วน ระดับ บ๓ ทั้งในส่วนอัตราเงินเดือนขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนขั้นสูง ขณะที่ตำแหน่งปฏิบัติการระดับ ก ๑- ก๓ ปรับขึ้นเฉพาะอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ และไม่มีการปรับอัตราเงินเดือนขั้นสูง สำนักงานฯ จึงควรนำเสนอข้อมูลทางวิชาการหรือความเห็นของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องถึงสัดส่วนในการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนและฐานเงินเดือนใหม่ เพื่อประกอบการพิจารณาของ กสทช.
  • สำนักงานฯ ได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนกับองค์กรอิสระและหน่วยงานชั้นนำภายนอก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    บริษัท ปูนซีเมนต์ฯ เป็นต้น ซึ่งพบว่า อัตราเงินเดือนเริ่มต้นของสำนักงานฯ มีอัตราต่ำกว่าหน่วยงานที่ยกตัวอย่างมา ประเด็นนี้พบว่า สื่อบางสำนักที่ติดตามเรื่องอัตราค่าตอบแทนผู้บริหารและข้าราชการองค์กรอิสระหลายแห่ง ได้เคยนำเสนอเปรียบเทียบอัตราค่าตอบแทนในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ได้นำไปเปรียบเทียบกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ปปช. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และพบว่า เงินเดือนและค่าตอบแทน
    ของสำนักงาน กสทช.อยู่ในระดับที่สูงกว่าหน่วยงานเหล่านี้ ดังนั้นการเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนกับแต่ละหน่วยงานว่า อัตราของสำนักงานอยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำกว่าหน่วยงานอื่น จึงขึ้นอยู่กับแหล่งอ้างอิงที่จะนำมาเปรียบเทียบ
  • รายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช.ประจำปี ๒๕๕๘ พบว่า อัตรากำลังของสำนักงาน กสทช.
    ในส่วนผู้บริหารระดับกลาง (ผู้อำนวยการสำนัก) จำนวน ๔๑ คน ผู้บริหารระดับต้น (ผู้อำนวยการส่วน) จำนวน ๙๔ คน  ตำแหน่งปฏิบัติการ พนักงานปฏิบัติการระดับสูง  ๓๘๖ คน พนักงานปฏิบัติระดับกลาง  ๒๘๗ คน พนักงานปฏิบัติการระดับต้น  ๒๗๒ คน และลูกจ้าง
    ๖๓ คน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ พบว่า เงินเดือนพนักงาน ๗๖๖.๖๐ ล้านบาท ค่าสวัสดิการ ๑๐๑.๐๖ ล้านบาท เงินบำเหน็จฯ ๙๘.๗๗ ล้านบาท
    เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ ๖๐.๐๒ ล้านบาท ค่าตอบแทนรายเดือน ๓๓.๑๘ ล้านบาท เป็นต้น
    จะเห็นได้ว่า การปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนฯ  ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรอื่นๆ ตามมาในอนาคต ดังนั้นสำนักงานฯ ควรนำเสนอข้อมูลเพื่อประมาณการใช้งบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นตลอดจนสัดส่วนการกระจายค่าตอบแทนไปยังอัตรากำลังแต่ละระดับตำแหน่ง
  • ดิฉันมีความเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ควรพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนฯ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารบุคคลโดยเฉพาะสัดส่วนระหว่างตำแหน่งผู้บริหารและตำแหน่งระดับผู้ปฏิบัติการเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้สื่อมวลชน และองค์กรตรวจสอบอย่าง สตง. ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในเวทีสาธารณะ ดังนั้นการอ้างอิงเหตุผลในการเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรไม่ลาออกไปทำงานกับองค์กรเอกชนหรือเพื่อชดเชยการสูญเสียโอกาสในการได้รับการเชิดชูเกียรติจากการปฏิบัติงานซึ่งพนักงานของสำนักงานฯ ไม่มีสิทธิไดรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ในระดับเดียวกับข้าราชการตามระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ พ.ศ. ๒๕๓๖ จึงอาจเป็นการกล่าวอ้างที่ถูกวิจารณ์ได้ว่า คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของพนักงานเป็นที่ตั้ง”