จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 14/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 14/2560 วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ พิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์, พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองกรณีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีของช่อง 3 จัดส่งหลักฐานไม่ครบถ้วน, พิจารณาเนื้อหารายการไม่เหมาะสมกรณีละครเรื่อง “เพลิงบุญ” และพิจารณาแนวทางการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ)

วาระพิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กสทช. พิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 11/2560 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ได้มีการพิจารณาทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีสำหรับกิจการโทรคมนาคม และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการศึกษาเรื่องการทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้สอดคล้องกันด้วย

สำหรับอัตราใหม่ที่สำนักงาน กสทช. จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาทบทวนนั้น คือ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.125, รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25, รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5, รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท – 5,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์รายปีที่จัดเก็บในปัจจุบัน นั่นคือ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีรายได้ 0 – 5 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.50, รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75, รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.00, รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.75, และรายได้ส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 2.00

ทั้งนี้ อัตราใหม่ดังกล่าวเป็นอัตราและขั้นรายได้เดียวกันกับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีสำหรับกิจการโทรคมนาคมซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

—————————

วาระพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองกรณีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีของช่อง 3 จัดส่งหลักฐานไม่ครบถ้วน
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทธุรกิจ จำนวน 3 ใบอนุญาต นำส่งผลการศึกษาเรื่องเงินชดเชยค่าเสียโอกาส ในกรณีการนำสัญญาณช่อง 3 ในระบบอนาล็อกมาออกอากาศในเนื้อหาเดียวกันกับช่อง 3HD (ช่องดิจิทัล 33) เพื่อใช้ในการสอบทานค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. สอบทานการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด พบว่าในหมายเหตุประกอบงบการเงิน มีการแสดงรายได้จากเงินชดเชยค่าเสียโอกาสสำหรับการนำสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินของช่อง 3 ในระบบอนาล็อกมาออกอากาศแบบคู่ขนานในช่อง 3HD (ดิจิทัลช่อง 33) จากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดยคิดค่าชดเชยสำหรับปี 2557 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม) และปี 2558 ในอัตราเดือนละ 150 ล้านบาท โดยทางบริษัทฯ ระบุว่า ตัวเลขค่าชดเชยดังกล่าวเป็นการประเมินค่าเสียโอกาสของการขายโฆษณาและเช่าช่วงเวลาของช่อง 3HD ที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงขอให้ทางบริษัทฯ นำส่งผลการศึกษาที่เกี่ยวกับการชดเชยค่าเสียโอกาสจำนวน 150 ล้านบาทต่อเดือน ที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และข้อมูลอัตราค่าโฆษณาของการประกอบกิจการทั้ง 3 ช่องรายการในระบบดิจิทัล ทั้งในส่วนอัตราค่าโฆษณาแบบปกติและอัตราค่าโฆษณาแบบคิดลดหรือที่ทำสัญญาจริง พร้อมหลักฐานประกอบ แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ปฏิเสธที่จะนำส่ง โดยอ้างว่าเป็นเอกสารข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. เห็นว่าผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประกอบการสอบทานการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ให้ความเห็นว่า ข้อมูลใดที่จะเป็นความลับทางการค้าจะต้องมีลักษณะที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อันเนื่องจากการปกปิดไว้เป็นความลับ เช่น สูตรทางเคมีของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และการเปิดเผยซึ่งความลับทางการค้าที่จะผิดกฎหมาย จะต้องเป็นการเปิดเผยให้เป็นการล่วงรู้โดยทั่วไป ดังนั้น ผลการศึกษาเรื่องเงินชดเชยค่าเสียโอกาสจึงหาใช่เป็นข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า นอกจากนี้ ไม่ว่าข้อมูลตามผลการศึกษาจะเป็นความลับทางการค้าหรือไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 (1) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในการเรียกให้นำส่งข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการประเมินรายได้และการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อันเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย จึงไม่อาจกล่าวอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้าเพื่อปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

—————————

วาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีการออกอากาศละครเรื่อง “เพลิงบุญ”
ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2560 มีการเสนอที่ประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น 10 วาระ โดยเป็นรายการที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 กรณี และออกอากาศทางช่องรายการโทรทัศน์ 9 กรณี ซึ่งรวมถึงกรณีการออกอากาศละครเรื่อง “เพลิงบุญ” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ทางช่อง 3HD เนื่องจากพบว่ามีฉากที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน เช่นฉากเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของตัวละคร โดยคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าไม่ควรจัดระดับความเหมาะสมของละครไว้ที่ระดับ ท (รายการที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมทุกวัย) ดังนั้นจึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้บริษัท บีอีซี–มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลปรับเปลี่ยนการจัดระดับความเหมาะสมของละครจากระดับ ท เป็นระดับ น 13 (รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ) และกำหนดเวลาการออกอากาศให้ถูกต้องตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 โดยเคร่งครัด อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า ละครเรื่อง “เพลิงบุญ” นี้ได้เริ่มออกอากาศทางช่อง 3HD ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2560 ในช่วงเวลา 20.20 น. – 22.50 น. แต่ปัจจุบันละครได้อวสานไปแล้ว

—————————

วาระพิจารณาแนวทางการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ
วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุม กทค. ครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ที่ประชุมเห็นชอบกระบวนการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดการให้บริการภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) โดยมีมติให้ผู้ใช้บริการสามารถขอรับเงินคงเหลือในระบบคืนจากผู้ให้บริการได้ภายใน 1 ปี เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี แล้วเหลือเงินเท่าใด ให้ผู้ให้บริการนำส่งเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่สำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงานจะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

แต่ว่าต่อมาที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 มีความเห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกการให้บริการ ถึงแม้ว่าผู้ใช้บริการจะไม่มาแสดงตนเพื่อขอรับเงินในระบบคืนก็ตาม แต่ผู้ให้บริการย่อมมีหน้าที่จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อคืนเงินนั้นเมื่อผู้ใช้บริการมาขอรับเงินคืน และไม่มีสิทธิที่จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชนผู้ใช้บริการ ส่วนประเด็นเรื่องการนำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินนั้น โดยหลักการแล้วจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนอย่างเช่นกรณี พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ที่กำหนดว่าเงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัล ถ้าผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลไม่มาขอรับเงินภายในเวลากำหนด ก็ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ประชุมจึงมีมติให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยเห็นชอบให้ผู้ให้บริการนำเงินคงเหลือในระบบที่ไม่มีผู้ใช้บริการขอรับคืนไปวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งการวางทรัพย์นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการที่เป็นเจ้าของเงินคงเหลือในระบบมาขอรับเงินคงเหลือคืนได้เป็นระยะเวลา 10 ปี อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามอายุความของกฎหมาย โดยในเรื่องนี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นควรให้นำหลักการนี้ไปใช้กับกรณีทั่วไปด้วย เมื่อผู้บริโภคยกเลิกบริการและยังมีเงินในระบบคงเหลือ ไม่เฉพาะแต่กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเท่านั้น เนื่องจากตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 34 กำหนดไว้ว่า “เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้รับการแจ้งมติ กทค. ครั้งที่ 6/2560 แล้ว ได้มีหนังสือทักท้วงว่าการนำเงินคงเหลือในระบบของผู้ใช้บริการไปวางทรัพย์จะก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 กทค. เสียงข้างมากก็ได้รับที่จะพิจารณาทบทวนมติ โดยเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. นำแนวทางการคืนเงินคงเหลือในระบบหลังสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ ไปเสนอคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. พิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ และนำเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งแนวทางที่ กทค. มีมติให้นำไปปรึกษานั้น จะกำหนดกำหนดให้ผู้ใช้บริการสามารถเรียกร้องสิทธิได้ภายใน 2 ปีนับจากวันสิ้นสุดการให้บริการ หลังจากนั้นให้บริษัทฯ นำเงินคงเหลือทั้งหมดที่ไม่มีผู้ใช้บริการขอรับคืนพร้อมดอกผลส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

สำหรับวาระที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันได้ครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน ที่ กทค. ได้มีมติขยายระยะการบังคับการดำเนินการตามมติ กทค. ครั้งที่ 6/2560 แต่ยังคงอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงเสนอ กสทช. พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการตามมติ กทค. ครั้งที่ 6/2560 ออกไปอีก เพื่อรอผลการพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะมีบทสรุปชัดเจน