จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 10/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 10/2560 วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2560 มีวาระที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องผลหารือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีปัญหาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) เรื่องข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2559 และเรื่องปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 2 ในส่วนของการแก้ไขตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ

ผลหารือกฤษฎีกากรณีปัญหาการดำรงตำแหน่งของ กตป.
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอผลการหารือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีปัญหาการนับวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานให้ที่ประชุม กสทช. รับทราบ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือขอหารือไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากวุฒิสภาได้เคยคัดเลือกกรรมการจำนวน 5 คน ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2556 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ครบกำหนดวันที่ 23 เมษายน 2559 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ได้มีกรรมการจำนวน 2 คนลาออก และกรรมการอีกหนึ่งคนคือ นายประเสริฐ อภิปุญญา ได้รับคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเป็นการชั่วคราวและไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงเดิมที่สังกัด โดยในเวลาต่อมา สำนักงาน กสทช. ได้มีคำสั่งลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ลงโทษไล่นายประเสริฐออกจากงานในตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นายประเสริฐปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้าที่จะไปปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กตป. โดยคำสั่งไล่ออกให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ซึ่งอาจมีผลให้นายประเสริฐต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กตป. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7(8) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ทำให้กรรมการ กตป. คงเหลือในตำแหน่งเพียง 2 คน อย่างไรก็ดี ในระหว่างนั้น วุฒิสภาได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลงจากการลาออกของกรรมการจำนวน 2 คน ซึ่งภายหลังมีกรรมการ 1 คนในจำนวนนี้ลาออก ประกอบกับเมื่อกรรมการ 2 คนแรกปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ ปัจจุบันจึงเป็นเหตุให้คงเหลือกรรมการ กตป. เพียง 1 คนที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่คือ นายปรเทพ สุจริตกุล และกลายเป็นประเด็นปัญหาว่า นายปรเทพที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2559 ไปพร้อมกับกรรมการอีก 2 คนที่ครบวาระไปด้วยหรือไม่ รวมถึงกรณีของนายประเสริฐที่ได้รับคำสั่งไล่ออกจากหน่วยงานของรัฐ จะมีผลให้นายประเสริฐต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กตป. และสำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการเรียกคืนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการ กตป. หรือไม่ อย่างไร

สำหรับผลหารือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายประสงค์ให้ กตป. มีวาระการดำรงตำแหน่งเริ่มต้นพร้อมกันและสิ้นสุดวาระไปพร้อมกัน โดยไม่มีการคัดเลือกกรรมการแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ วุฒิสภาจึงไม่ต้องดำเนินการสรรหากรรมการคนใหม่เพื่อแทนที่กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุดังกล่าว ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นต้องคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างเพื่อให้คณะกรรมการยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ กรรมการที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาในภายหลัง จึงต้องมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับกรรมการที่ตนได้รับคัดเลือกเข้ามาแทน คือวันที่ 23 เมษายน 2559 ส่วนกรณีของนายประเสริฐนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า คำสั่ง คสช. เป็นเพียงการระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ ไม่มีผลทำให้นายประเสริฐพ้นจากตำแหน่ง แต่จากเหตุที่วุฒิสภาได้มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 คัดเลือกนายประเสริฐเป็นกรรมการ และนายประเสริฐได้มีบันทึกลงวันที่ 11 เมษายน 2556 ขอลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. ไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กตป. โดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2556 ทว่าระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 กำหนดว่ากรณีที่พนักงานตำแหน่งรองเลขาธิการประสงค์จะลาออกจากงาน ให้ยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้าก่อนวันที่ประสงค์จะลาออกไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ลาออกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป ซึ่งจากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ในวันเริ่มแรกของการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กตป. ของนายประเสริฐ คือวันที่ 24 เมษายน 2556 นั้น นายประเสริฐยังคงมีสถานะเป็นพนักงานของสำนักงาน กสทช. อันมีผลให้นายประเสริฐมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการ กตป. ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงไม่อาจเป็นกรรมการ กตป. ได้ตั้งแต่แรก โดยต้องชดใช้ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นที่ได้รับไปอันเนื่องจากการเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นทึ่ได้รับคำสั่งลงโทษไล่ออกจากงานอีก

—————————–

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ สนช. ต่อผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2559
วาระนี้สืบเนื่องจากเลขาธิการ กสทช. และผู้บริหารสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมประชุมชี้แจงประกอบการพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2559 ในคราวการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2560 ณ อาคารรัฐสภา โดยต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำเอกสารสรุปประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ สนช. และคำชี้แจงของสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอที่ประชุม กสทช. รับทราบในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ สนช. ได้มีข้อเสนอแนะให้ กสทช. เร่งรัดดำเนินการในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการหาแนวทางแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล การดำเนินการด้านกิจการดาวเทียมโดยเร่งรัดการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ. กำกับกิจการอวกาศ การสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการใช้งานพร้อมเพย์อย่างปลอดภัยให้กับประชาชน การกำกับดูแลเรื่องการอนุญาตให้ผู้ให้บริการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน การกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลบริการ OTT และ Big Data รวมทั้งควรมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมกระจายเสียง อุตสาหกรรมโทรทัศน์ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม

นอกจากนี้ สนช. ยังได้เสนอแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ควรดำเนินการดังนี้ 1) นำเรื่องร้องเรียนต่างๆ ไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบในเชิงนโยบาย 2) กรณีข้อร้องเรียนที่เป็นปัญหาเดิมและมีจำนวนมาก ควรพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องการประชาสัมพันธ์กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและเข้าใจ โดยควรกำหนดเป็นมาตรฐานเพื่อลดการสอบถามข้อมูลและข้อร้องเรียน 3) มุ่งเน้นมาตรการใหม่ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ทันท่วงที และดำเนินการลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาดยิ่งขึ้น

ส่วนข้อวิจารณ์ของ สนช. ที่น่าสนใจคือ การตรวจสอบเนื้อหาโทรทัศน์และวิทยุโดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาและวิทยุโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ที่ผิดกฎหมายนั้น เห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า และไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากจำนวนสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศมีจำนวนมาก ดังนั้นควรนำงบประมาณและบุคลากรในการดำเนินการดังกล่าวไปดำเนินการในเรื่องอื่นที่ส่งผลลัพธ์เดียวกันนี้แทน นอกจากนี้ การกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์เรื่องมาตรฐานความคมชัดของทีวีดิจิตอลที่ กสทช. กำหนดห้ามไม่ให้เคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมออกอากาศด้วยคุณภาพหรือความคมชัดสูงกว่าทีวีดิจิตอลนั้น อาจเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทั้งในเรื่องการแข่งขันและการบริโภคสื่อของผู้บริโภคบนโครงข่ายดังกล่าว

—————————–

ปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 2 ในส่วนของการแก้ไขตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กสทช. พิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่องแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2558) ในส่วนของการแก้ไขตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ และรายละเอียดเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่กำหนดให้ใช้ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการอื่น

ทั้งนี้ ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พร้อมทั้งข้อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยในส่วนตารางคลื่นความถี่แห่งชาติ สำนักงาน กสทช. เสนอยืนยันการกำหนดกิจการประจำที่ให้เป็นกิจการหลักร่วมกับกิจการประจำที่ผ่านดาวเทียมและกำหนดกิจการเคลื่อนที่เป็นกิจการรองในย่านความถี่ 3400 – 3500 MHz และยืนยันการกำหนดกิจการประจำที่เป็นกิจการหลักร่วมกับกิจการประจำที่ผ่านดาวเทียม และกำหนดกิจการเคลื่อนที่ยกเว้นกิจการเคลื่อนที่ทางการบินเป็นกิจการรองในย่านความถี่ 3500 – 3700 MHz

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 50 – 54 MHz ซึ่งเป็นคลื่นย่านที่เป็นปัญหาระหว่างกองบัญชาการกองทัพไทยกับสำนักงาน กสทช. โดยกองบัญชาการกองทัพไทยได้ยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนกิจการวิทยุสมัครเล่นในคลื่นความถี่ย่านนี้ออกจากประกาศ เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ที่ปัจจุบันทางกองทัพใช้สำหรับเครื่องวิทยุสื่อสารในปฏิบัติการทางทหารของเหล่าทัพต่างๆ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ยังคงยืนยันไม่ปรับปรุงการกำหนดกิจการในย่านความถี่นี้ โดยให้เป็นไปตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (พ.ศ. 2558) เช่นเดิม เพราะเห็นว่าตราบใดที่ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอน รวมทั้งไม่ได้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ประกาศฯ ดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับต่อไป