จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 16/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 16/2560 วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่อง บจ. ทรู มูฟ ชี้แจงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz, แนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลและระบบคมนาคมขนส่งทางรางย่านความถี่ 800/900 MHz และ 400 MHz, การยกเลิกผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ, บจ. ไอ-โมบาย พลัส ขอสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง, รายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมประจำเดือนพฤษภาคม 2560

วาระ บจ. ทรู มูฟ ชี้แจงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
วาระนี้สืบเนื่องจาก บจ. ทรู มูฟ มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ขอชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาการคิดคำนวณเงินรายได้จากการให้บริการเพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในช่วงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า บริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนสะสมมาโดยตลอด เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการลดลง แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการไว้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเด็นโต้แย้งเรื่องการคิดคำนวณเงินรายได้จากการให้บริการได้ข้อยุติ บริษัทฯ จึงขอเสนอปรับลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายซึ่งสามารถนำมาหักลบจากรายได้ลง จากเดิมที่บริษัทฯ เคยรายงานไว้ 8,983.99 ล้านบาท เหลือ 3,994.37 ล้านบาท และทำให้บริษัทฯ มีรายได้เหลือที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 508.69 ล้านบาท จากเดิมที่บริษัทฯ เคยรายงานว่ามีรายได้ติดลบกว่า 11,304.81 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการที่แต่งตั้งตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ได้เคยตรวจสอบรายได้จากการให้บริการของ บจ. ทรู มูฟ มาแล้ว โดยผลการคำนวณภายหลังจากที่ได้รับทราบความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ปรากฏว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายที่สามารถนำมาหักออกจากรายได้จำนวน 2,020.71 ล้านบาท โดยมีรายได้เหลือที่ต้องนำส่งทั้งสิ้น 17,737.14 ล้านบาท ซึ่งจะพบว่ายอดเงินรายได้นำส่งแผ่นดินที่ทางบริษัทเสนอมาครั้งนี้ ต่ำกว่าผลการตรวจสอบรายได้ของคณะทำงานถึงกว่า 17,228 ล้านบาท

สำหรับในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอหนังสือชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของ บจ. ทรู มูฟ ให้ กทค. พิจารณาเพื่อขอรับแนวทางในการดำเนินการต่อไป ถึงกระนั้นก็มีข้อน่าสังเกตว่า หนังสือที่ทางบริษัทฯ ส่งถึงสำนักงาน กสทช. นั้น ไม่ได้ระบุวิธีการคำนวณ หรือเอกสารประกอบที่มาที่ไปของตัวเลขดังกล่าวมาแต่อย่างใด

——————————————

วาระแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลและระบบคมนาคมขนส่งทางราง
วาระนี้สืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมและสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้มีหนังสือแจ้งความต้องการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบขนส่งทางรางมายังสำนักงาน กสทช. โดยจะเป็นการขอใช้คลื่นย่าน 800/900 MHz สำหรับรถไฟเส้นทางหลัก รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าชานเมือง และรถไฟความเร็วสูงตามนโยบายรัฐบาล และขอใช้คลื่นย่าน 400 MHz สำหรับรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงคลื่นย่าน 380 – 400 MHz สำหรับรถไฟฟ้าในเมืองด้วยวิทยุสื่อสารระบบ Trunked Radio System

สำหรับการเตรียมการกำหนดแนวทางการใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางนั้น โดยข้อเท็จจริงสำนักงาน กสทช. ได้เคยรายงานการกำหนดแนวทางการใช้คลื่นความถี่ในย่าน 800/900 MHz สำหรับวัตถุประสงค์นี้ต่อที่ประชุม กทค. มาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้งที่ 18/2557 และต่อมาได้ดำเนินการจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษางานวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมเพื่อประกอบการตัดสินใจจัดสรรย่านความถี่ 800/900 MHz ดังกล่าว ซึ่งทางเลือกที่เหมาะสมที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งนี้คือ กำหนดจัดสรรคลื่นย่าน 885-890/930-935 MHz สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อรองรับระบบอาณัติสัญญาณ และคลื่น 890-895/935-940 MHz สำรองไว้สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลหรือระบบคมนาคมขนส่งทางราง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ระบบคมนาคมขนส่งทางรางอาจมีความต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคตที่มีลักษณะเป็น Broadband เช่น LTE-R นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังได้เสนอกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรไว้ด้วยว่า คลื่นที่อยู่นอกเหนือพื้นที่การใช้งานตามแนวทางรางรถไฟฟ้าให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่หรือระบบไร้สายอื่นๆ ได้ โดยต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาการรบกวนของสัญญาณต่อการใช้งานสื่อสารข้อมูลระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางราง ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่

อย่างไรก็ดี คลื่นความถี่ย่าน 890-895/935-940 MHz ในปัจจุบันเป็นย่านความถี่ในสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ดังนั้นหาก กทค. เห็นชอบจัดสรรคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวสำหรับระบบขนส่งทางราง ก็จะสามารถจัดสรรได้ในปี 2561 ขณะเดียวกัน กทค. ก็คงต้องพิจารณาและเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านอื่นที่มีลักษณะสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ให้บริการบริเวณกว้าง (Coverage Band) เช่น ความถี่ย่าน 700 MHz มาจัดสรรทดแทนคลื่นความถี่สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่าน 800/900 MHz ที่มีปริมาณลดลง เพื่อให้มีคลื่นความถี่ย่าน Coverage Band เพียงพอสำหรับการให้บริการของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

ส่วนแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางในย่าน 400 MHz แม้ไม่อยู่ในขอบเขตการศึกษาของงานวิจัยก็ตาม แต่สำนักงาน กสทช. เสนอว่า ปัจจุบันระบบ Trunked Radio สามารถใช้คลื่นความถี่ในย่าน 380-399.9 MHz ตามประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบกระบบ Digital Trunked Radio และหากการใช้งานไม่เพียงพอ ก็จะพิจารณาจัดทำแผนความถี่วิทยุสำหรับระบบ Trunked Radio ในย่านความถี่ 410-430 MHz เพิ่มเติม แต่ก็เสนอให้กำหนดเงื่อนไขการจัดสรรไว้ด้วยว่า หากในบริเวณที่ไม่มีการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับระบบอาณัติสัญญาณสำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง กสทช. อาจพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวสำหรับกิจการอื่นในทำนองเดียวกันกับคลื่นย่าน 800/900 MHz

——————————————

วาระการยกเลิกผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณายกเลิกผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ โดยเห็นควรกำหนดให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น พ้นจากการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป ซึ่งการยกเลิกดังกล่าวจะมีผลต่อคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองทั้งสองบริษัทในกรณีที่ฝ่าฝืนประกาศอัตราขั้นสูงที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงในแต่ละหน่วยนาทีได้ไม่เกิน 99 สตางค์

ทั้งนี้ ปมของเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย คือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ฝ่าฝืนประกาศอัตราขั้นสูงที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงในแต่ละหน่วยนาทีได้ไม่เกิน 99 สตางค์ เลขาธิการ กสทช. จึงมีคำสั่งลงวันที่ 29 มีนาคม 2556 กำหนดค่าปรับทางปกครองให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ชำระวันละ 186,669 บาท และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ชำระวันละ 157,947 บาท แต่ผู้ให้บริการทั้งสองรายได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ อีกทั้งยังโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของบริษัทว่าไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภายหลังที่มีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลง และไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป โดยอ้างอิงส่วนแบ่งการตลาด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ของทั้งสองบริษัทว่าลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16 และ 8 ตามลำดับ

ต่อมาในการประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2558 ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นำเรื่องดังกล่าวหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. โดยคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวออกโดยข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน จึงเห็นสมควรให้เพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองบังคับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำวาระนี้เสนอ กทค. เพื่อพิจารณาแก้ไขคำสั่งกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเมื่อมีการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวแล้ว ก็จะเสนอพิจารณาเพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองต่อไป

อันที่จริงเรื่องการบังคับให้ผู้ให้บริการทั้งสองรายปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูงที่กำหนดให้มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงไม่เกิน 99 สตางค์นั้น ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 24/2556 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการได้มีมติยืนตามคำสั่งเลขาธิการฯ โดยกำหนดให้ทั้งสองบริษัทปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ถูกต้องตามประกาศแล้ว แต่กว่าที่สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการมีหนังสือแจ้งเตือนและสั่งปรับทางปกครองได้ใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี จนทำให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าตลาดบริการดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนกระทั่งตนเองมิได้มีสภาพเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดดังกล่าวแล้ว

ขณะที่หากพิจารณาในแง่ระดับการแข่งขันของตลาดในช่วงปี 2556 – 2557 แล้ว ก็จะพบข้อเท็จจริงว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ผู้รับใบอนุญาตมักจะประกอบกิจการในรูปกลุ่มหรือเครือบริษัท มิใช่ประกอบกิจการในรูปแบบบริษัทเดี่ยว ซึ่งเมื่อพิจารณาโครงสร้างบริษัทของผู้รับใบอนุญาตแล้วจะพบว่า บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เป็นผู้ถือหุ้นของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ก็เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ดังนั้น การวิเคราะห์ความมีประสิทธิภาพของการแข่งขันและการกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดฯ ย่อมต้องพิจารณาว่าบริษัทแม่และบริษัทในเครือเป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน จะพิจารณาว่าเป็นผู้ให้บริการต่างรายกันมิได้ และเมื่อพิจารณาตามข้อ 9 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น ก็จะเห็นว่า คณะกรรมการสามารถกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดฯ ร่วมกันได้ (Collective Dominance) ไม่จำเป็นต้องกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดฯ เป็นรายนิติบุคคลเท่านั้น ดังนั้นข้อสรุปที่สำนักงาน กสทช. ให้ กทค. พิจารณาว่า บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดโดยไม่ได้คำนึงถึงส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในเครือทั้ง บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และบจ. ดีแทค ไตรเน็ต มาประกอบด้วย จึงดูเป็นเรื่องที่อาจแตกต่างจากความรับรู้ของสาธารณะ

——————————————

วาระ บจ. ไอ-โมบาย พลัส ขอสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง

วาระนี้เป็นเรื่องที่ บจ. ไอ-โมบาย พลัส ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง เพื่อให้บริการขายต่อบริการและบริการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนแบบ Non Facilities Based MVNO – Medium MVNO แจ้งขอสิ้นสุดการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง พร้อมส่งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการภายหลังจากสิ้นสุดการอนุญาตให้ กทค. พิจารณา อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของวาระนี้อยู่ที่เหตุผลในการขอสิ้นสุดการอนุญาตของบริษัทฯ กล่าวคือบริษัทฯ ชี้แจงเหตุผลในการขอยุติการให้บริการว่า บมจ. ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาที่เป็นเจ้าของโครงข่ายไม่ได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการตามแผนธุรกิจ และไม่มีการพัฒนาแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงเกิดปัญหาระบบสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้องบ่อยครั้งและมีการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้บริษัทไอ-โมบายฯ ขาดทุนและไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ด้าน บมจ. ทีโอที ชี้แจงเหตุผลของการยุติการให้บริการและยกเลิกบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับบริษัทไอ-โมบายฯ ว่า เป็นเพราะบริษัทไอ-โมบายฯ มีหนี้ค้างชำระและผิดนัดชำระค่าบริการเกิoกว่าระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นนอกจากในประเด็นที่ กทค. ต้องพิจารณาเรื่องการขอสิ้นสุดการให้บริการของบริษัทไอ-โมบายฯ แล้ว ก็ควรกำชับสำนักงาน กสทช. ให้ติดตามและตรวจสอบสาเหตุของการยุติการให้บริการของบริษัทไอ-โมบายฯ ให้มีความชัดเจนด้วย เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาลักษณะดังกล่าว เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่อไป

——————————————

วาระรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมประจำเดือนพฤษภาคม 2560
สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 ให้ กทค. รับทราบ โดยยังคงพบว่าในเดือนนี้ไม่มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเลย และหากย้อนดูสถิติตั้งแต่ต้นปี 2560 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพียงเรื่องเดียว โดยกรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องร้องเรียนที่ผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตและค่าบริการข้อความสั้น (SMS) โดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องร้องเรียนที่ไม่มีความซับซ้อน และมีกฎกติกาชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ให้บริการไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมตามระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 เป็นกระบวนการที่แทบไม่มีประโยชน์อันใดแล้ว จึงมีประเด็นเพียงว่าจะมีการทบทวนและปรับปรุงแก้ในเรื่องนี้เมื่อไร

หมายเหตุ การประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2560 เป็นการประชุม กทค. ครั้งสุดท้ายก่อน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้