จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 9/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 9/2560 บ่ายวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ ผลการตรวจสอบการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมตามเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz, พิจารณาเพิ่มช่องการทางคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Pre-paid หรือระบบชำระค่าบริการล่วงหน้าภายหลังที่มีการยกเลิกสัญญาบริการ, แผนคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz, พิจารณายกเลิกประกาศด้านกิจการโทรคมนาคมจำนวน 13 ฉบับ

วาระผลการตรวจสอบการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมตามเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz
วาระนี้สืบเนื่องจาก กสทช. ได้ให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแก่ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บจ. ดีแทค ไตรเน็ต และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลบนย่านความถี่ 2100 MHz เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายในการให้บริการครอบคลุมครบทุกจังหวัดและครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และต้องรองรับอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลที่ประกาศกำหนด

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมภายหลังครบกำหนด 4 ปี ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 สำนักงาน กสทช. ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตทั้งสามรายมีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว และครอบคลุมจำนวนประชากรเกินกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดย บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรคิดเป็นร้อยละ 98.72 ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรคิดเป็นร้อยละ 86.02 และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรคิดเป็นร้อยละ 81.48

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายงานฉบับดังกล่าวในรายละเอียด พบว่า แม้ในภาพรวมผู้รับใบอนุญาตทั้งสามรายจะติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมทั้งประเทศเกินร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่เมื่อเจาะดูในรายอำเภอหรือแม้แต่ในรายจังหวัด กลับพบว่า หลายพื้นที่มีการให้บริการครอบคลุมไม่ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนประชากร เช่น จังหวัดกาญจนบุรี บจ. ดีแทค ไตรเน็ต มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 60.89 และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 51.74, จังหวัดแม่ฮ่องสอน บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 69.49, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 34.97 และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 23.25, จังหวัดเลย บจ. ดีแทค ไตรเน็ต มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 57.37 และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีการติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 53.23 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า รายงานดังกล่าวไม่มีการประเมินว่าโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตรองรับอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งถือว่าไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการให้ใบอนุญาต

——————————–

วาระพิจารณาเพิ่มช่องทางการคืนเงินสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินภายหลังเลิกสัญญา

วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาเพิ่มช่องทางการคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Pre-paid หรือระบบชำระค่าบริการล่วงหน้าภายหลังที่มีการยกเลิกสัญญาบริการ

ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ศึกษาพบปัญหาการคืนเงินให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Pre-paid ว่า เวลาที่ผู้ใช้บริการต้องการเติมเงินค่าบริการล่วงหน้าสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น การเติมเงินโดยบัตรเติมเงิน การโอนเงินผ่านธนาคาร การเติมเงินโดยวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) การให้ผู้ใช้บริการรายเดือนเติมเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการเติมเงินโดยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ซึ่งสามารถเติมเงินให้กันระหว่างเครือข่ายได้ แต่เมื่อต้องการขอเงินคืนภายหลังยกเลิกสัญญาบริการ กลับมีช่องทางที่จำกัด เช่น คืนเป็นเงินสด ณ ศูนย์บริการลูกค้า หรือโอนเงินไปยังหมายเลขโทรศัพท์เดิมหรือหมายเลขใหม่ที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้ ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการขอเงินคงค้างในเลขหมายของตนคืนได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในส่วนของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNOs) ที่ล้มเลิกกิจการไป ทำให้ผู้ใช้บริการมีปัญหาในการขอเงินคงค้างคืนด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอเพิ่มช่องทางการคืนเงิน โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถโอนเงินคงเหลือในระบบ Pre-paid ไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ของผู้ใช้บริการเองได้ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบ USSD ให้ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้การขอรับเงินคืนมีความสะดวกยิ่งขึ้น เพราะไม่จำกัดขอบเขตการคืนเงินที่จุดให้บริการบางแห่งเท่านั้น อีกทั้งไม่มีค่าธรรมเนียมธนาคารสำหรับการคืนเงิน ไม่มีค่าเดินทางในการไปขอรับเงินคืน และหากในอนาคตบริการ Prompt Pay ตามนโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จ ก็จะนำบริการ Prompt Pay มาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในคืนเงินด้วย โดยแนวทางดังกล่าวนี้ สำนักงาน กสทช. ได้นำไปหารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงความเป็นไปได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขอระยะเวลาในการปรับปรุงระบบประมาณ 6 เดือน ดังนั้นหาก กทค. มีมติเห็นชอบกับแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอในวาระนี้ ก็จะมีการแจ้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการต่อไป

——————————–

วาระแผนคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz
วาระนี้เป็นการพิจารณาแผนคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz จำนวน 3 ฉบับ เนื่องจากเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ครอบคลุมถึงเรื่องมาตรการการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม กระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการเกี่ยวกับสิทธิในการใช้บริการโทรคมนาคม โดยผู้รับใบอนุญาตต้องจัดส่งแผนคุ้มครองผู้บริโภคต่อ กทค. ก่อนเริ่มให้บริการ และต้องดำเนินการตามแผนทันทีที่เริ่มให้บริการ

ทั้งนี้ แผนคุ้มครองผู้บริโภคที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยแผนคุ้มครองผู้บริโภคของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ย่านความถี่ละ 1 ฉบับ และแผนคุ้มครองผู้บริโภคของ บจ. ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz อีก 1 ฉบับ โดยข้อสังเกตที่มีต่อแผนคุ้มครองผู้บริโภคของผู้รับใบอนุญาตทั้งสองรายนั้นมีประเด็นปัญหาคล้ายคลึงกัน นั่นคือ แม้จะมีการกำหนดเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเพื่อรับเรื่องร้องเรียนขึ้นเป็นการเฉพาะโดยไม่คิดค่าบริการตามเงื่อนไขใบอนุญาต แต่ก็เป็นเบอร์โทร 9 หลัก ซึ่งยากแก่การจดจำ และทางบริษัทฯ ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เป็นการทั่วไปให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบ ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของ บจ. ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ก็กำหนดบริการดังกล่าวไว้เพียง 10 คู่สายเท่านั้น นั่นเท่ากับว่าเป็นการบังคับโดยอ้อมให้ผู้ใช้บริการต้องโทรร้องเรียนผ่าน Call Center ที่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากนี้ ในส่วนของแผนคุ้มครองผู้บริโภคของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ยังพบด้วยว่ามีการกำหนดเงื่อนไขในการร้องเรียนโดยให้ผู้บริโภคต้องส่งสำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองนิติบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณารับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นภาระให้กับผู้บริโภคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ในส่วนมาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม พบว่าทั้งสองบริษัทยังคงใช้แนวทาง Opt Out โดยผู้ใช้บริการจะต้องเป็นฝ่ายแจ้งความประสงค์เข้าไปยังบริษัทเพื่อยกเลิกการส่งข้อความหรือบริการต่างๆ ที่ส่งมาโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ

——————————–

วาระพิจารณายกเลิกประกาศด้านกิจการโทรคมนาคม 13 ฉบับ
วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุมเพื่อพิจารณายุทธศาสตร์ภายใต้ร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 กทค. ได้มีนโยบายมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปรับปรุง ยุบรวม หรือยกเลิกประกาศต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีประกาศ กทช. และ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุคมนาคม รวมทั้งสิ้น 156 ฉบับ โดยสำนักงาน กสทช. มีแผนที่จะดำเนินการปรับปรุงประกาศจำนวน 37 ฉบับ และขอยกเลิกประกาศจำนวน 13 ฉบับ ซึ่งในส่วนของประกาศที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. เพื่อพิจารณายกเลิก ประกอบด้วยประกาศที่สำนักงาน กสทช. เห็นว่าไม่สอดคล้องกับบริบทในการกำกับดูแลในสภาวการณ์ปัจจุบันจำนวน 7 ฉบับ และประกาศที่จะดำเนินการยกเลิกภายหลังจากที่ได้มีการออกประกาศฉบับใหม่จำนวน 6 ฉบับ

สำหรับประกาศที่สำนักงาน กสทช. เห็นว่าไม่สอดคล้องกับบริบทในการกำกับดูแลในสภาวการณ์ปัจจุบัน ได้แก่
1) ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับสถานีฐานและสถานีทวนสัญญาณในกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรังผึ้ง (Cellular) ซึ่งใช้เทคโนโลยี IMT-2000 CDMA
2) ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับสถานีฐานและสถานีทวนสัญญาณในกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรังผึ้ง (Cellular) ซึ่งใช้เทคโนโลยี IMT-2000 CDMA Multi-Carrier (CDMA200)
3) ประกาศ กทช. เรื่อง พื้นที่เป้าหมายในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
4) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
5) ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต พ.ศ. 2548
6) ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณามาตรฐานบริการที่ดีสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
7) ประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลขเรื่องการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมให้ถูกต้องตรงกิจการ

ส่วนประกาศที่จะดำเนินการยกเลิกภายหลังจากที่ได้มีการออกประกาศฉบับใหม่นั้น พบว่าเป็นประกาศในด้านที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านอัตราค่าบริการถึง 4 ฉบับ โดยจะยกเลิกภายหลังที่ร่างประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ และประกาศในด้านการอนุญาตประกอบกิจการวิทยุคมนาคม 2 ฉบับ โดยจะยกเลิกภายหลังที่ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีผลบังคับใช้ ได้แก่
1) ประกาศ กสทช. เรื่อง ยกเลิกอัตราค่าบริการขั้นสูงชั่วคราวตาประกาศ กทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
2) ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555
3) ประกาศ กทช. เรื่อง กำหนดให้กิจการโทรคมนาคมบางประเภทไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับของประกาศ กทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2550
4) คำสั่ง กทช. ที่ 19/2553 เรื่อง ห้ามเรียกเก็บค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน
5) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดตั้งข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสาธารณกุศล
6) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่กลางสำหรับการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน

โดยหลักการแล้ว การยกเลิกประกาศที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทของการกำกับดูแลในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ในการเสนอขอยกเลิกประกาศนั้น สำนักงาน กสทช. ไม่ได้แสดงเหตุผลถึงความจำเป็นที่ประกาศแต่ละฉบับสมควรถูกยกเลิกนั้นคืออะไร เนื้อหา สาระสำคัญ และรายละเอียดเป็นอย่างไร รวมทั้งร่างประกาศฉบับใหม่ที่จะนำมาบังคับใช้ทดแทนนั้นมีเนื้อหาสาระแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้น กทค. จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าในกรณีของการยกเลิกประกาศบางฉบับอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการอนุญาตและกำกับดูแลตามมาด้วยหรือไม่ รวมถึงการที่จะยกเลิกประกาศฉบับเก่าแล้วให้มีประกาศฉบับใหม่มาบังคับใช้ทดแทน แต่ไม่รู้ว่าสาระของร่างประกาศฉบับใหม่นั้นคืออะไร ลักษณะนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายหรือไม่ อย่างไร ล้วนยังเป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน