จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 5/2560

5.60

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 5/2560 วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเรื่องขอแก้ไขมติที่ประชุม กทค. เรื่องการชำระบัญชีจัดให้มีบริการ USO ตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2553 ของ บมจ. ทีโอที

วาระแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เคยเสนอให้ กทค. พิจารณามาแล้วหลายครั้ง แต่ติดขัดข้อกฎหมาย เนื่องจากแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม หรือเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม ที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้ กทค. พิจารณานั้น มีการตัดขั้นตอนตรวจสอบข้อร้องเรียนในระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตออก ซึ่งขัดแย้งกับมติ กทช. ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 ที่กำหนดว่า หากพบว่ามีการร้องเรียน จะต้องชะลอการออกใบอนุญาตจนกว่าการพิจารณาข้อร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติโดยปราศจากข้อโต้แย้งจากทุกฝ่าย ดังนั้นหาก กทค. จะพิจารณาข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ก็เท่ากับต้องมีการขอทบทวนมติเดิม ซึ่งตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ข้อ 45 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการหยิบยกประเด็นซึ่งที่ประชุมมีมติแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ เว้นแต่กรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเห็นชอบตรงกันให้มีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง” ที่ผ่านมามีประเด็นปัญหาในเชิงข้อกฎหมายว่า จำนวนกรรมการทั้งหมดคือเท่าไร ทั้งนี้หากคือ 5 คน จำนวน 2 ใน 3 ก็จะต้องเป็น 4 คน ซึ่งเมื่อในความจริง กทค. เหลืออยู่เพียง 4 คน และ กสทช. ประวิทย์ฯ ไม่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงมติ กทช. ในเรื่องนี้ ที่ประชุมจึงยังไม่อาจพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2559 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปแสวงหาความชัดเจนในประเด็นนี้เสียก่อน

สำหรับการเสนอวาระให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานผลการหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับประเด็นระเบียบว่าด้วยข้อบังคับการประชุมให้ กทค. ทราบ ซึ่งความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายมีความเห็นแตกเป็น 2 ทาง โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ระเบียบข้อ 45 ให้บังคับใช้ในกรณี “เมื่อที่ประชุม กทค. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว และกรรมการ กทค. ประสงค์ที่จะขอให้มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวใหม่ในการประชุมครั้งเดียวกันนั้น กรณีดังกล่าวจะต้องได้รับคะแนนเสียงของกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ กทค. ที่มีอยู่ทั้งหมดเห็นชอบให้มีการพิจารณาใหม่” ส่วนกรณีที่สำนักงาน กสทช. นำมาหารือนั้นให้ใช้ระเบียบข้อ 41 กล่าวคือ “จะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการ กทค. ที่มีอยู่ 4 คน” ขณะที่ความเห็นของอนุกรรมการเสียงข้างน้อยเห็นว่า กรณีนี้จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 45 ของระเบียบ กล่าวคือ “จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ กทค. ที่มีอยู่ 4 คน เห็นชอบให้มีการพิจารณาใหม่ในประเด็นดังกล่าวก่อน และเมื่อเห็นชอบให้มีการพิจารณาใหม่แล้ว กรณีจึงจะเข้าสู่การลงมติตามข้อ 41 ของระเบียบ”

ผลจากการปรึกษาหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายจึงก่อให้เกิดแนวทางที่เป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ หาก กทค. เห็นชอบตามเสียงส่วนใหญ่ของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ก็จะใช้เสียงโหวตจากกรรมการเพียง 3 เสียงเพื่อขอทบทวนมติ ซึ่งก็ถือว่าเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการ กทค. แล้ว อย่างไรก็ดี ความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเสียงข้างมากนี้ยังคงมีประเด็นน่ากังขาอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าการพิจารณาขอทบทวนมติในกรณีที่ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 นั้น ใช้เฉพาะกับกรณีที่ขอทบทวนมติในการประชุมครั้งเดียวกัน แต่ถ้าเป็นการประชุมคนละครั้ง ก็เพียงใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เสมอต้นเสมอปลายและไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ ว่าเพราะเหตุใดในการประชุมครั้งเดียวกันกับการประชุมต่างกันครั้งจึงใช้ระเบียบหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน

แต่ถ้า กทค. เห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเสียงข้างน้อย ในการพิจารณาทบทวนมติก็จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ซึ่งยังคงมีประเด็นต้องพิจารณาเช่นเดิมว่าจำนวน 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดคือเท่าไร ซึ่งก็ต้องชัดเจนด้วยว่าจำนวนของกรรมการทั้งหมดในทางกฎหมายนั้นคือเท่าไร

สำหรับข้อเสนอแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมของสำนักงาน กสทช. ที่ต้องการตัดขั้นตอนตรวจสอบข้อร้องเรียนในระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตออกไปนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ต้องการผลักภาระความรับผิดชอบให้พ้นตัวในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาต โดยปล่อยให้ความขัดแย้งเป็นเรื่องของผู้ประกอบกิจการและประชาชนต้องเผชิญหน้ากันไปใช่หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วแนวทางดังกล่าวไม่น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและประชาชน เพราะถ้าหากมีการออกใบอนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมทั้งที่มีประชาชนในพื้นที่คัดค้านอยู่ ก็จะยิ่งเป็นการผูกปมความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้น และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องให้เพิกถอนใบอนุญาตหรือใช้มวลชนเข้ารื้อถอนเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในกรณีที่ความขัดแย้งถึงทางตันหรือไร้ทางออก

————————-

วาระขอแก้ไขมติที่ประชุม กทค. เรื่องการชำระบัญชีจัดให้มีบริการ USO ตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2553 ของ บมจ. ทีโอที
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณาขอแก้ไขมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 26/2559 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เรื่องการชำระบัญชีการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ตามแผนปฏิบัติการ USO ประจำปี 2553 ของ บมจ. ทีโอที โดยสำนักงาน กสทช. ขอให้ 1) กทค. เห็นชอบผลการชำระบัญชีของ บมจ. ทีโอที จำนวน 1,730,510,096.58 บาท และ 2) เห็นชอบให้กองทุนฯ อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการขยายระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ ระยะที่ 1 ภายใต้แผนปฏิบัติการ USO ประจำปี 2556 โดยให้นำเงินอุดหนุนในส่วนของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ไปให้กับ บมจ. ทีโอที ด้วย เพิ่มจากเดิมที่มีมติเพียงรับทราบผลการชำระบัญชีของ บมจ. ทีโอที ว่าไม่มีกรอบวงเงินคงเหลือเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม กทค. ครั้งที่ 26/2559 พบว่า ตามเอกสารวาระที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ กทค. พิจารณามี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเสนอที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงินภาระค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการดังกล่าว จำนวน 1,729,690,405.05 บาท และผลการชำระบัญชีของ บมจ. ทีโอที จำนวน 1,730,510,096.58 บาท ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายจริงสูงกว่าวงเงินประมาณ 8 แสนบาท และเรื่องที่สองคือ เสนอที่ประชุมพิจารณาให้นำเงินอุดหนุนเกี่ยวกับการจัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะระยะที่ 1 ภายใต้แผนปฏิบัติการ USO ประจำปี 2556 ในส่วนของ บมจ. กสท โทรคมนาคม จำนวนประมาณ 17.233 ล้านบาท ไปให้แก่ บมจ. ทีโอที เนื่องจาก บมจ. กสท โทรคมนาคม ขอยุติบทบาทการจัดให้มีบริการดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 26/2556 สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอที่ประชุมพิจารณาเพียงในเรื่องกรอบวงเงินภาระค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการ USO ตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2553 และผลการชำระบัญชีของ บมจ. ทีโอที เท่านั้น ยังไม่ทันจะได้นำเสนอประเด็นที่ 2 กรรมการในที่ประชุมท่านหนึ่งก็ได้ตัดบทว่าให้นำเสนอสั้นๆ จากนั้นมีกรรมการ 2 ท่านได้อภิปรายให้ความเห็นสนับสนุนกันไปมาจนในที่สุดมีการลงมติว่าให้รับทราบผลการชำระบัญชีของ บมจ. ทีโอที โดยไม่มีวงเงินคงเหลือ ซึ่งเท่ากับว่าได้มองข้ามประเด็นที่ บมจ. ทีโอที ชำระบัญชีเกินกรอบวงเงิน ดังนั้นประเด็นต่อเนื่องที่ว่าจะชดเชยเงินส่วนเกินแก่ บมจ. ทีโอที หรือไม่ จึงเป็นอันตกไปโดยปริยาย ดังที่กรรมการบางท่านอภิปรายชัดเจนว่าประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องพิจารณา เพราะทาง บมจ. ทีโอที ไม่ได้ร้องขอมา

การที่สำนักงาน กสทช. เสนอขอให้แก้ไขมติที่ประชุมครั้งนั้นเป็นวาระการประชุมในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นเรื่องประหลาด เนื่องจากในกรณีของประเด็นการชำระบัญชีของ บมจ. ทีโอที ที่ได้นำเสนอจนที่ประชุมมีมติไปแล้วนั้น หากจะแก้ไขได้ก็จะต้องขอทบทวนมติหรือขอให้พิจารณาใหม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ไม่ใช่ว่าเมื่อ กทค. มีมติไม่ตรงใจก็ใช้วิธีขอแก้ไขมติ ส่วนในเรื่องการอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้กับ บมจ. ทีโอที ภายใต้แผนปฏิบัติการ USO ประจำปี 2556 นั้น เมื่อที่ประชุม กทค. ยังไม่เคยได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวเลย การขอแก้มติจึงยิ่งเป็นไปไม่ได้

ส่วนกรณีที่สำนักงาน กสทช. อ้างว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2556 แท้จริงมติที่ประชุมครั้งนั้นเป็นเพียงการเห็นชอบโครงการและจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อสนับสนุนโครงการตามแผนปฏิบัติการ USO โทรคมนาคม ประจำปี 2556 เท่านั้น ส่วนในรายละเอียดที่มีการอ้างว่าเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายแก่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้บริการโทรศัพท์สาธารณะในพื้นที่เป้าหมายไปอีก 1 ปี โดยมีการแบ่งสัดส่วนของเงินตามภาระงานให้กับทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งต่อมา บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขอยุติการให้บริการดังกล่าวอันทำให้มีเงินคงเหลือ ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องคนละส่วนกัน ไม่ใช่เหตุที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตรงว่าถ้า บมจ. กสท โทรคมนาคม ไม่ดำเนินการ ก็ต้องถ่ายโอนเงินอุดหนุนมาให้ บมจ. ทีโอที อีกทั้งกรอบระยะเวลาของโครงการที่ขยายออกไป 1 ปี ก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับโครงการที่ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2556 เคยมีมติเห็นชอบไว้ ดังนั้น หากสำนักงาน กสทช. จะขออนุมัติใช้ประโยชน์เงินคงเหลือจำนวนดังกล่าว ก็จำเป็นที่ต้องเสนอภาระงานใหม่ให้ชัดเจน และเหมาะสมสอดคล้องกับวงเงินงบประมาณด้วย