จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 2/2560

2.60

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 2/2560 วันอังคารที่ 17 มกราคม 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2559, การกำหนดแนวทางการให้อนุญาตสำหรับการให้บริการที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างกิจการโทรคมนาคมกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์, และเรื่อง บมจ. ทีโอที ขอระงับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย

วาระรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2559
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุม กทค. ทราบรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2559 สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยทั้งหมด 14 บริษัท โดยมีกลุ่มผู้ให้บริการเอกชนรายใหญ่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัท AIS กลุ่มบริษัท DTAC และกลุ่มบริษัททรู (TUC) รวม 6 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที และผู้ให้บริการรายเล็กที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเองอีกจำนวน 6 ราย

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 89,062,862 เลขหมาย แบ่งออกเป็นแบบรายเดือน (Post-paid) จำนวน 16,595,253 เลขหมาย (18.9%) และแบบเติมเงิน (Pre-paid) จำนวน 72,467,609 เลขหมาย (81.1%) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2558 จำนวนเลขหมายลดลง 7.19% โดยจำนวนเลขหมายแบบเติมเงินมีจำนวนลดลง 4.89% แต่จำนวนเลขหมายแบบรายเดือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 18.6% สำหรับอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz บริการประเภทเสียงอยู่ระหว่าง 0.63 – 0.67 บาท/นาที และบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ระหว่าง 0.19 – 0.28 บาทต่อ MB ส่วนอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 1800 MHz และ 900 MHz บริการประเภทเสียงและบริการอินเทอร์เน็ตของ AWN อยู่ที่ 0.51 บาท/นาที และ 0.09 บาทต่อ MB ขณะที่บริการประเภทเสียงและบริการอินเทอร์เน็ตของ TUC อยู่ที่ 0.63 บาท/นาที และ 0.25 บาทต่อ MB

บริการโทรศัพท์ประจำที่ ในไตรมาสนี้มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่รวมทั้งหมด 4,776,335 ล้านเลขหมาย ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ประมาณ 2.25% และมีแนวโน้มการใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการจะพยายามกระตุ้นปริมาณการใช้งานจากผู้ใช้บริการก็ตาม แต่เมื่อพิจารณารายรับเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน พบว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 รายรับเฉลี่ยต่อเลขหมายอยู่ที่ 175 บาท/เดือน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 184 บาท/เดือน/เลขหมาย

บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ระบบ คือระบบต่อตรง (IDD) และระบบบริการเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (VoIP) ซึ่งระบบ VoIP กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศโดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พบว่า มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่นาทีละ 21.17 บาท โดยการโทรไปยังประเทศปลายทางในกลุ่มอาเซียนมีค่าบริการต่ำสุด เฉลี่ยนาทีละ 8.89 บาท รองลงมาเป็นทวีปออสเตรเลียและทวีปยุโรป นาทีละ 9.69 บาท และนาที 17.25 บาท ตามลำดับ

บริการโรมมิ่ง ในปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งให้บริการโรมมิ่งมีการนำเสนอรายการส่งเสริมการขายที่หลากหลาย ทั้งแบบเหมาจ่ายและแบบคิดตามปริมาณการใช้จริง โดยอัตราค่าบริการโทรภายในประเทศ (Domestic Call) ซึ่งเป็นค่าบริการของการโทรออกไปยังเลขหมายท้องถิ่นของประเทศที่ตนพำนักอยู่ในต่างประเทศ อัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 44.42 บาท/นาที ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 คิดเป็น 3%, อัตราค่าบริการโทรกลับไทย (Call to Thailand) เฉลี่ยเท่ากับ 97.60 บาท/นาที ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 คิดเป็น 2%, อัตราค่าโทรไปยังประเทศปลายทางที่เป็นประเทศที่สาม (Call to Third Country) เฉลี่ยเท่ากับ 98.66 บาท/นาที ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 คิดเป็น 3%, และอัตราค่ารับสาย (Call Receiving) เฉลี่ยเท่ากับ 69.16 บาท/นาที ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 คิดเป็น 13%

บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความต้องการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ให้บริการมีการแข่งขันด้านความเร็วและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโดยนำเสนอรายการส่งเสริมการขายที่หลากหลาย ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการส่งเสริมการขายประเภทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว และรายการส่งเสริมการขายประเภท Bundle Services ขณะที่ในปัจจุบัน สถิติพบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 6.77 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 1.7% แต่หากพิจารณาสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อประชากร พบว่ามีสัดส่วนเท่ากับ 10.04% เท่านั้น สำหรับอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น จะผันแปรตามความเร็วในการรับส่งข้อมูล โดยในไตรมาสนี้ ค่าบริการรายเดือนของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อผ่าน DSL อยู่ในช่วง 590 – 700 บาท/เดือน

—————————

วาระกำหนดแนวทางการให้อนุญาตสำหรับการให้บริการที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงฯ
วาระนี้สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ประกอบกิจการบางรายนำโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์มาให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และมีโทษจากการกระทำความผิด อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันมีการหลอมรวมเทคโนโลยี (Technological Convergence) ซึ่งทำให้โครงข่ายสามารถรองรับได้ทั้งบริการโทรคมนาคมและบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 18/2559 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. จัดทำแนวทางการให้อนุญาตสำหรับการให้บริการโทรคมนาคมบนโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (เคเบิลทีวี) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เสนอแนวทางการอนุญาตให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา โดยในประเด็นแนวทางการพิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการในระดับโครงข่ายและระดับบริการนั้น สำนักงาน กสทช. เสนอว่า โครงข่ายโทรคมนาคมสามารถให้ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เช่าใช้เพื่อส่งผ่าน traffic ได้ ในทำนองเดียวกัน โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ก็สามารถให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเช่าใช้เพื่อส่งผ่าน traffic ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตทั้งสองกิจการ ในระดับบริการ ควรจำแนกว่าเป็นบริการโทรคมนาคมหรือบริการกระจายเสียงให้ชัดเจนตามลักษณะการให้บริการ เพื่อขอรับใบอนุญาตเพียงประเภทเดียว และไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการขอรับใบอนุญาต โดยควรมีการพิจารณาปรับปรุงภาระหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการโทรคมนาคมและบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้มีการกำกับดูแลที่เท่าเทียมสำหรับผู้รับใบอนุญาตแต่ละกิจการ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. ขัดแย้งกับความเห็นของคณะอนุกรรมการเปรียบเทียบคดีความผิดตาม พ.ร.บ. การปะกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่พิจารณาให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ และ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ได้แบ่งอำนาจหน้าที่ของแต่ละคณะกรรมการอย่างชัดเจน โดยกรรมการแต่ละชุดมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตตามกฎหมายแต่ละฉบับ การที่จะนำใบอนุญาตของคณะกรรมการชุดหนึ่งมาบังคับใช้กับคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งโดยกฎหมายคนละฉบับนั้นย่อมไม่ถูกต้อง นั่นหมายถึงผู้ประกอบการแม้จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงแบบมีโครงข่ายแล้ว การจะนำโครงข่ายดังกล่าวมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมก็ย่อมจะต้องขออนุญาตประกอบกิจการต่อ กทค. อีกส่วนหนึ่งด้วย

วาระนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงพัฒนา แต่กติกาการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. ตามไม่ทัน ดังนั้นในเรื่องนี้ คงต้องจับตากันให้ดีว่า กทค. จะพิจารณาอย่างไร เนื่องจากแนวทางการพิจารณาอนุญาตที่สำนัก กสทช. นำเสนอนั้น สวนทางกับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ อีกทั้งยังดูคลุมเครือในทางปฏิบัติอยู่มาก เพราะการประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมกับกิจการด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์มีลักษณะแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ แนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้ปรับปรุงภาระหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการโทรคมนาคมและบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์มีความสอดคล้องกันนั้น จึงชวนสงสัยอย่างมากว่าจะปรับปรุงอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่ชัดเจนว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จเมื่อใดเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างในการอนุญาตประกอบกิจการ

—————————

วาระ บมจ. ทีโอที ขอระงับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย
วาระนี้เป็นเรื่องที่ บมจ. ทีโอที มีหนังสือแจ้งขอยกเลิกการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือน (MVNO) เนื่องจาก บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ผิดนัดชำระค่าใช้บริการค่าใช้บริการตั้งแต่ต้นปี 2558 บมจ. ทีโอที จึงต้องการใช้สิทธิบอกเลิกการให้บริการ โดยได้นำส่งแผนรองรับผู้ใช้บริการให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาด้วย

อย่างไรก็ดี มาตรา 20 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดว่า “ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด” ซึ่งหากผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการ ก็ต้องมีการแจ้งผู้ใช้บริการให้ทราบล่วงหน้า และต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ โดยต้องจัดส่งแผนมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการมาให้ กสทช. พิจารณาล่วงหน้าก่อน แต่ใน กรณีนี้ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการปลายทางยังคงไม่ได้จัดส่งแผนมาตรการเยียวยามายังสำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด

ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ในด้านหนึ่ง กทค. ต้องพิจารณาแผนรองรับผู้ใช้บริการของ บมจ. ทีโอที เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่สมัครใจใช้บริการกับ บมจ. ทีโอที ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องต่อไป โดย บมจ. ทีโอที ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาให้บริการที่มีผลอยู่ก่อนการโอนรับผู้ใช้บริการ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง กรณีที่ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ไม่ได้จัดส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมาให้พิจารณา กทค. ก็ควรกำหนดแผนให้ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบว่าจะมีการระงับบริการเมื่อใด เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบและตัดสินใจได้ว่าจะยกเลิกบริการหรือใช้บริการที่ให้บริการโดย บมจ. ทีโอที ต่อเนื่อง รวมทั้งต้องแจ้งสิทธิให้กับผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินรับทราบ เพื่อสามารถขอรับเงินที่เหลือในระบบคืนได้เต็มจำนวน เป็นต้น