เรื่องพิจารณาแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการของ บมจ. ทีโอที ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ, รายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม, เรื่องพิจารณาคำร้องขอให้วินิจฉัยกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ดิน ฯลฯ

bbbbbbb35.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 35/2558 วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2558 มีการบรรจุวาระการประชุมที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องพิจารณาแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการของ บมจ. ทีโอที ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ, เรื่องรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2558, เรื่องพิจารณาคำร้องขอให้วินิจฉัยกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ดินในอัตราอิงต้นทุนของ บมจ. ซิมโฟนี คอมมูนิเคชั่น จำกัด, เรื่องรายงานผลการดำเนินงานระดับยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ประจำปี 2558, เรื่องพิจารณาจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน, เรื่องการดำเนินคดีกับผู้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) โดยไม่ได้รับอนุญาต, และเรื่องการชำระบัญชีการจัดให้มีการบริการ USO ของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์

วาระพิจารณาแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการของ TOT ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ
ตามที่ประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 หรือประกาศมาตรการเยียวยาฯ กำหนดว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานเดิมมีหน้าที่ให้บริการโทรคมนาคมต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครอง ทั้งนี้ ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ให้บริการดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการและนำส่งให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ห้ามพักหรือหยุดการให้บริการ ห้ามรับลูกค้าใหม่ ต้องรักษาคุณภาพการให้บริการ และให้มีการประชาสัมพันธ์เร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการ เป็นต้น ขณะที่แผนคุ้มครองผู้ใช้บริการต้องมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย (1) ข้อมูลการให้บริการ เช่น ข้อมูลผู้ใช้บริการ จำนวนเงินคงค้างในระบบ (2) แผนงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (3) แผนส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (4) ค่าใช้จ่ายในการให้บริการและภาระที่เกิดจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 บมจ. ทีโอที ในฐานะผู้ให้สัมปทานได้มีหนังสือลงวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ชี้แจงมายังสำนักงาน กสทช. ว่าไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว และได้ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประกาศต่อศาลปกครอง ทว่าในเวลาต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำขอ ด้วยเหตุนี้ บมจ. ทีโอที จึงได้จัดส่งแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ หนังสือลงวันที่ 6 ตุลาคม 2558 มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอให้ กทค. พิจารณาให้ความเห็นชอบ

สำหรับวาระนี้มีข้อน่าสังเกตว่า เป็นการพิจารณาแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ที่ล่าช้าไปมาก เพราะปัจจุบันจวนสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการแล้ว โดยจะสิ้นสุดเมื่อ กทค. มีมติออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ให้กับผู้ชนะการประมูลรายใหม่ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันยังอยู่ในขั้นกระบวนการพิจารณาแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการอยู่เลย ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลที่จัดส่งมาก็ทั้งล้าสมัยและไม่ครบถ้วน เช่น ข้อมูลรายงานจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ยังเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 อีกทั้งไม่มีการรายงานข้อมูลจำนวนเงินคงค้างในระบบของผู้ใช้บริการ และค่าใช้จ่ายในการให้บริการและภาระจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตลอดเวลา เนื่องจากหากค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของคลื่นความถี่ย่าย 1800 MHz ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน ซึ่งยังเป็นปัญหาพิพาทเรื่องค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายที่ยังสางไม่จบจนปัจจุบัน

วาระรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2558
ตามที่ กสทช. ได้มีการออกระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 เพื่อใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน ปรากฏว่าในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2558 มีผู้รับใบอนุญาตฯ และผู้ร้องเรียนแจ้งความประสงค์ขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 36 เรื่อง และเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากคู่กรณีอีก 20 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 56 เรื่อง โดยในช่วง 2 เดือนดังกล่าว มีกรณีที่มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นและยุติข้อร้องเรียนไปแล้วเพียงกรณีเดียว

ดังนั้น น่าจะถึงคราวสมควรที่ กทค. จะสังคายนายกเครื่องกระบวนการไกล่เกลี่ยใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเสียที เพราะมิเช่นนั้นกระบวนการดังกล่าวก็จะกลายเป็นขั้นตอนเกินจำเป็นที่ฉุดรั้งให้การแก้ไขเรื่องร้องเรียนยิ่งล่าช้ามากขึ้นไปอีก

วาระพิจารณาคำร้องขอให้วินิจฉัยกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ดินในอัตราอิงต้นทุนของ บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น

วาระนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทระหว่าง บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น และ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดย บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขึ้นราคาค่าใช้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ดินจากเดิมกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น เห็นว่าราคาดังกล่าวเป็นอัตราที่ไม่เป็นธรรม จึงมีคำร้องถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ร้องขอให้ กสทช. วินิจฉัยว่าการเรียกเก็บค่าตอบแทนในอัตราดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยขอให้ กสทช. พิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนการเช่าใช้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ดินที่อ้างอิงต้นทุนที่เป็นธรรมและเหมาะสม รวมทั้งในระหว่างที่กรณีพิพาทยังไม่ได้ข้อยุติ ก็ต้องการให้ กสทช. มีคำสั่งให้ใช้อัตราค่าตอบแทนเดิมไปก่อนเป็นการชั่วคราว และห้ามมิให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม หยุดการให้บริการให้เช่าใช้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ดินแก่ บมจ. ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ขณะเดียวกัน บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้ฟ้องร้องข้อพิพาทนี้ต่อศาล

แม้ปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ได้มีการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการขอใช้ท่อร้อยสายใต้ดิน รูปแบบมาตรฐาน วิธีการ และเงื่อนไข การสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน และท่อร้อยสายกับโครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานของรัฐ รูปแบบการลงทุนร่วมกันในการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน และท่อร้อยสายกับโครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานของรัฐอย่างละเอียด ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่กรณีข้อพิพาทนี้ สำนักงาน กสทช. เสนอว่าควรรอคำวินิจฉัยของศาล เนื่องจากคดีดังกล่าวยังคงอยู่ในกระบวนการศาล เพราะเกรงว่าหากมีคำวินิจฉัยใดอาจเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาล ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วอำนาจศาลและอำนาจขององค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจคนละส่วนกัน โดยการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้ท่อร้อยสายฯ ยังคงเป็นอำนาจขององค์กรกำกับดูแล นั่นคือ กทค. ย่อมมีอำนาจพิจารณาได้ว่า การเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ของผู้รับใบอนุญาตสูงเกินกว่าปกติหรือไม่ และเป็นการคิดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่สะท้อนต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวหรือไม่ อย่างไร โดยมิต้องรอคำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดก่อน เพราะหาก กทค. ละล้าละลังไม่กำหนดดูแลในเรื่องนี้ ปล่อยให้ผู้ให้บริการที่มีท่อเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูงเกินสมควร ไม่เพียงแต่เป็นความหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ของ กทค. แล้ว นโยบายของรัฐบาลในเรื่องการนำสายต่างๆ ลงใต้ดินก็คงยิ่งห่างไกลความเป็นจริง

วาระรายงานผลการดำเนินงานระดับยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่
วาระนี้เป็นวาระเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. รายงานผลการดำเนินงานระดับยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) ประจำปี 2558

ทั้งนี้ ผลการติดตามประเมินผลการดำเนินงานระดับยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พบว่า มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม จำนวน 14 รายการที่มีผลการดำเนินงานตรงตามเป้าหมาย, จำนวน 3 รายการที่มีผลการดำเนินงานไม่ตรงตามเป้าหมาย, จำนวน 4 รายการที่ไม่ได้กำหนดค่าเป้าหมาย, และไม่มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่ยกเลิก อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า ผลผลิตของการดำเนินงานที่ตรงตามเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตในรูปของการประชุมและผลผลิตในรูปรายงาน/อบรม โดยมีจำนวนผลผลิตอย่างละ 4 รายการ

ส่วนผลการติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พบว่า มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม จำนวน 24 รายการที่มีผลการดำเนินงานตรงตามเป้าหมาย, จำนวน 7 รายการที่มีผลการดำเนินงานไม่ตรงตามเป้าหมาย, จำนวน 6 รายการที่ไม่ได้กำหนดค่าเป้าหมาย, และจำนวน 1 รายการที่ยกเลิก โดยผลผลิตส่วนใหญ่ของการดำเนินงานที่ตรงตามเป้าหมายนั้น ผลผลิตในรูปหลักเกณฑ์/แนวทาง/มาตรการ/ข้อเสนอ และผลผลิตในรูปของการประชุม อย่างละ 6 รายการ

วาระพิจารณาจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

วาระนี้เป็นการพิจารณาการกำหนดแนวทางในการอนุมัติการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น (เลขหมาย 3 หลัก และ 4 หลัก) สำหรับกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน โดยแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติจัดสรรคือ เป็นการใช้เพื่อภารกิจพิเศษ หรือใช้ในราชการความมั่นคงของรัฐ การทหาร และผู้นำประเทศ หรือใช้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำหรับกรณีเร่งด่วนหรือเหตุฉุกเฉินเฉพาะกิจ และที่ประชุม กทค. สามารถมีมติมอบหมายให้ประธาน กทค. มีอำนาจพิจารณาอนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นได้ โดยให้มีการรายงานให้ที่ประชุม กทค. รับทราบในครั้งถัดไป อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ประธาน กทค. ใช้อำนาจพิจารณาอนุมัติ โดยได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทค. ก็น่าที่จะมีการกำหนดขอบเขตระยะเวลาการอนุญาตที่ชัดเจนไว้ เช่น 6 เดือนนับแต่ได้รับอนุญาต แล้วหากมีความจำเป็นต้องมีการใช้งานเกิดกว่าระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ผู้รับใบอนุญาตต้องร้องขอการจัดสรรเลขหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดสรรและวิธีการของประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องต่อไป

วาระการดำเนินคดีกับผู้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) โดยไม่ได้รับอนุญาต
วาระนี้เป็นเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลในจังหวัดพะเยาร่วมกันเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือสัญญาณ WiFi แก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. เขต 3 (ลำปาง) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนภายหลังที่คดีหมดอายุความไปแล้ว ซึ่งคดีมีอายุความ 1 ปี ถึงกระนั้นวาระนี้มีข้อน่าสังเกตว่ากลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดอ้างเหตุเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่เข้าใจข้อกฎหมาย เช่นเข้าใจว่าคลื่น WiFi ประชาชนสามารถใช้ได้ โดยไม่รู้ว่าการนำมาให้บริการโดยเรียกเก็บค่าบริการนั้นผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ต้องเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนด้วย ขณะเดียวกันก็ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติระหว่างคนรวยกับคนจน ดังเช่นกรณีโรงแรมหรือสถานบริการทั้งหลายที่มีการให้บริการสัญญาณ WiFi โดยเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งน่าที่จะถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเช่นเดียวกัน

วาระเรื่องการชำระบัญชีการจัดให้มีการบริการ USO ของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์
ในคราวการประชุม กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ครั้งที่ 6/2554 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้รับใบอนุญาต 6 ราย ดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ประจำปี 2553 ตามพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดภายในวงเงินงบประมาณดำเนินการที่ได้กำหนดไว้แล้วในการข้อกำหนดและเงื่อนไขของผู้รับใบอนุญาตแต่ละราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ สำหรับวาระเพื่อพิจารณาในการประชุม กทค. ครั้งนี้ เป็นเรื่องพิจารณาการชำระบัญชีการจัดให้มีบริการ USO บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งตามแผนปฏิบัติการ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ มีภารกิจที่ต้องจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 316 แห่ง โทรศัพท์สาธารณะและโทรศัพท์ประจำที่ และศูนย์อินเทอร์เน็ตในสถานศึกษา 28 แห่ง และศูนย์อินเทอร์เน็ตประจำชุมชนและสังคม 42 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจรับมอบงานการจัดให้มีบริการ USO ประจำปี 2553 ของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เป็นที่น่าตกใจ เนื่องจากพบว่า บริษัทได้ดำเนินการติดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขจำนวนมากถึง 40 แห่ง จากทั้งหมด 70 แห่ง โดยแบ่งเป็นศูนย์อินเทอร์เน็ตในสถานศึกษาจำนวน 5 แห่ง ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนจำนวน 28 แห่ง ศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมจำนวน 7 แห่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ กทค. ต้องกำชับให้สำนักงาน กสทช. ต้องกวดขันให้บริษัทดำเนินการติดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขฯ หรือหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะต้องมีผลกระทบต่อวงเงินในการปิดบัญชี โดยต้องพิจารณาปรับลดวงเงินในส่วนที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไข