พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 900, CAT ขอปรับปรุงการใช้งานคลื่น 1800 ทำ LTE, เอกชนขอขยายพื้นที่ให้บริการโทรคมนาคมสำหรับรถยนต์รับจ้าง, พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งปรับทางปกครองกรณีไม่ปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูง 99 สต.

bbbbbbb22.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 22/2558 ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 900 MHz, เรื่อง บมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ขออนุญาตปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ด้วยเทคโนโลยี LTE, เรื่องเอกชนขอเพิ่มพื้นที่และรุ่นอุปกรณ์ในการให้บริการโทรคมนาคมสำหรับรถยนต์รับจ้าง, และเรื่องพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกำหนดปรับทางปกครองกรณี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ไม่ปฏิบัติตามประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงไม่เกิน 99 สตางค์

วาระเรื่องพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 หลังรับฟังความคิดเห็น
วาระนี้เป็นการสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 900 MHz ซึ่งจะมีการนำคลื่นขนาด 2 X 10 MHz ออกประมูลจำนวน 2 ชุด โดยประเด็นเงื่อนไขการให้อนุญาตที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือเรื่องความครอบคลุมโครงข่าย เนื่องจากคลื่นย่านนี้เป็นคลื่นที่มีลักษณะของการครอบคลุมพื้นที่และทะลุตัวอาคารได้ดี หรือที่เรียกว่าคลื่นย่าน Coverage Band ซึ่งต้นทุนในการวางโครงข่ายของคลื่นย่านนี้ต่ำกว่าการวางโครงข่ายของคลื่นย่านที่มีความถี่สูงกว่า เช่นคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 2100 MHz ด้วยเหตุนี้ การกำหนดเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่ายในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน Coverage Band นี้ในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศในทวีปยุโรป จึงมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ค่อนข้างสูง เช่น ประเทศเบลเยียม กำหนดเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่ายในการจัดสรรคลื่นย่าน 800 MHz ไว้ที่ร้อยละ 98 ของประชากรภายในปี 6 ปี โดยต้องมีความเร็วขั้นต่ำในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่ากับ 3 Mbps ประเทศเดนมาร์ก กำหนดเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นย่าน 900 MHz โดยใบอนุญาตที่จัดสรรในปี ค.ศ. 1991 บนเทคโนโลยี GSM นั้น กำหนดให้ครอบคลุมโครงข่ายร้อยละ 95 ของพื้นที่ ขณะที่ใบอนุญาตที่จัดสรรในช่วงปี ค.ศ. 2000 – 2001 กำหนดไว้ที่ร้อยละ 90 ของพื้นที่ภายใน 5 ปี ประเทศเยอรมนี กำหนดเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่ายในการจัดสรรคลื่นย่าน 800 MHz ด้วยการกำหนดพื้นที่เฉพาะในการให้บริการ โดยผู้ให้บริการต้องให้บริการครอบคลุมร้อยละ 90 ของประชากรในพื้นที่ให้ได้ก่อน จึงจะสามารถให้บริการในพื้นที่ถัดไปได้ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz บนเทคโนโลยี GSM มีการกำหนดให้ต้องครอบคลุมโครงข่ายร้อยละ 98 ของประชากร เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การกำหนดเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่ายไว้ที่ร้อยละ 40 ของประชากรใน 4 ปีตามร่างประกาศเดิมที่นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือหากมีการปรับปรุงเงื่อนไขเป็นร้อยละ 50 ของประชากรใน 7 ปีในลักษณะเดียวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปก่อนแล้ว จึงดูจะต่ำเกินไปและไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะของคลื่นความถี่ย่านนี้ ดังนั้นต้องติดตามดูว่าที่ประชุม กทค. จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อประโยชน์กับสาธารณะมากที่สุด

ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ทั้งในเรื่องการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูล กติกาการเคาะราคา และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค คาดว่าที่ประชุมน่าจะกำหนดให้สอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz ซึ่งที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบไปแล้วก่อนหน้านี้ หรือหากมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป แน่นอนว่าก็ไม่ควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในลักษณะที่ด้อยกว่า

วาระ CAT ขอปรับปรุงการใช้งานคลื่น 1800 เพื่อทำ LTE
บมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ CAT มีหนังสือลงวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ขออนุญาตปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในส่วนที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC กับ CAT เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี LTE ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานดาต้า มีความเร็วสูงขึ้น

แม้การขออนุญาตปรับปรุงการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดูจะเป็นเรื่องปกติ แต่กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตว่า คำขออนุญาตนี้ครอบคลุมทั้งในส่วนคลื่นความถี่ที่ DTAC นำมาให้บริการในปัจจุบัน และในส่วนที่ไม่มีการใช้งาน ซึ่งทับซ้อนกับปริมาณคลื่นความถี่ขนาด 4.8 MHz ที่เดิมจะมีการคืนมาให้กับสำนักงาน กสทช. เพื่อนำไปจัดประมูลรวมกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้ว หากทว่าล่าสุดเกิดความไม่แน่นอนว่าจะมีการคืนคลื่นกลับมาที่สำนักงาน กสทช. หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่มีการคืนคลื่นปริมาณดังกล่าวภายในวันที่ 25 กันยายนนี้ ก็จะมีการจัดประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz เพียง 12.5 X 2 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตเท่านั้น แทนที่จะเป็นขนาดใบอนุญาตละ 15 X 2 MHz ซึ่งการนำคลื่นความถี่ไปให้บริการก็จะมีประสิทธิภาพลดลง

วาระเอกชนขอขยายพื้นที่ให้บริการโทรคมนาคมสำหรับรถยนต์รับจ้าง
วาระนี้เป็นกรณีที่เอกชนรายหนึ่งที่ประกอบกิจการให้บริการโทรคมนาคมสำหรับรถยนต์รับจ้าง หรือศูนย์วิทยุเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ ได้แจ้งความประสงค์ขอขยายพื้นที่ในการให้บริการของบริษัท จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นครอบคลุมในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีหากมีการให้อนุญาตเพิ่มเติม เพราะไม่เพียงเป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการ แต่ยังอำนวยความสะดวกในการเรียกใช้งาน การติดตามตำแหน่งที่อยู่ของรถ และความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ติดปัญหาอยู่ที่ประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสำหรับรถยนต์รับจ้าง พ.ศ. 2552 ได้กำหนดนิยามของรถยนต์รับจ้างไว้เพียงเป็นรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ดังนั้นหากว่ากันอย่างตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมาย กสทช. จึงไม่สามารถให้อนุญาตคำขอขยายพื้นที่ให้บริการของเอกชนรายดังกล่าวได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายมีปัญหา ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการเร่งแก้ไขประกาศให้เกิดความชัดเจนและทันสมัย เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตเป็นไปโดยถูกต้อง และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในระยะยาว

วาระพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งปรับทางปกครองกรณีไม่ปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูง 99 สตางค์
วาระนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย คือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ฝ่าฝืนประกาศอัตราขั้นสูงที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงในแต่ละหน่วยนาทีได้ไม่เกิน 99 สตางค์ เลขาธิการ กสทช. จึงมีคำสั่ง ลงวันที่ 29 มีนาคม 2556 กำหนดค่าปรับทางปกครองให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ชำระวันละ 186,669 บาท และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ชำระวันละ 157,947 บาท แต่ผู้ให้บริการทั้งสองรายได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ อีกทั้งยังโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของบริษัทว่าไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงประเภทเสียงไม่เกิน 99 สตางค์ดังกล่าว เป็นการบังคับใช้กับผู้ให้บริการในตลาดค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศที่เป็นผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเดิมทีมี 2 บริษัท คือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น แต่ภายหลังที่มีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ทำให้ส่วนแบ่งการตลาด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ของทั้งสองบริษัทลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16 และร้อยละ 8 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ใช้บริการโอนย้ายเลขหมายไปยังบริการในระบบ 3G ซึ่งกลายเป็นที่มาสำคัญของข้อโต้แย้งที่บริษัททั้งสองอ้างว่าไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วต่างก็ทราบกันดีว่าผู้ให้บริการในตลาดค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ภายในประเทศของไทยมีเพียง 3 กลุ่มบริษัทเท่านั้น คือ กลุ่มบริษัท AIS กลุ่มบริษัท DTAC และกลุ่มบริษัท TRUE ดังนั้นข้อสรุปที่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดจึงดูเป็นเรื่องที่ค้านสายตาสาธารณะ

ขณะที่ในการจัดทำวาระเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เสนอความเห็นประกอบว่า แม้ตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคมจะกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาสถานะการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญไว้ แต่ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. มีอำนาจในการออกประกาศกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญไว้ด้วย โดยในประเด็นนี้ กทช. ในขณะนั้นได้มีคำสั่งระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้นหากไม่มีคำสั่งเพิกถอนหรือสิ้นผลลงด้วยเงื่อนเวลา คำสั่งทางปกครองดังกล่าวจึงยังมีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่าทั้งสองบริษัทยังคงเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูง คือกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงประเภทเสียงไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที

ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่าที่ประชุม กทค. จะมีมติต่อเรื่องการอุทธรณ์ของทั้งสองบริษัทนี้อย่างไร แต่ที่แน่นอนคือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งสองบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูง และยังไม่เคยได้รับการลงโทษแต่อย่างใด