ค่ายมือถือฟ้องคำสั่งทางปกครองเรื่องบริการคงสิทธิเลขหมาย, การกำหนดระยะเวลาคืนคลื่น

as21.58
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 21/2558 วันพุธที่ 2 กันยายน 2558 มีวาระที่น่าจับตา คือ กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฟ้องคำสั่งทางปกครองของเลขาธิการ กสทช. และมติ กทค. ที่สั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การให้บริการคงสิทธิเลขหมาย และเรื่องการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

วาระเรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฟ้องคำสั่งทางปกครองของเลขาธิการ กสทช. ที่สั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การให้บริการคงสิทธิเลขหมาย
วาระนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจากกรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มบริษัท AIS และ DTAC ฟ้อง กสทช. เรื่องคำสั่งทางปกครองที่ให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย เนื่องจากก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่ามีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลับลอบโอนย้ายผู้ใช้บริการภายในเครือบริษัทของตนจากบริษัทที่ให้บริการ 2G ไปยังบริษัทที่ให้บริการ 3G ที่อยู่นอกระบบสัญญาสัมปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะแรกที่มีการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz เมื่อต้นปี 2556 ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้ใช้บริการในการขอโอนย้าย

ทั้งนี้ ก่อนที่สำนักงาน กสทช. จะมีคำสั่งทางปกครองถึงผู้ให้บริการ ได้มีการตรวจสอบพบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ในการโอนย้ายไม่มีการให้ผู้ใช้บริการลงทะเบียนซิมการ์ด มีการตัดเปลี่ยนจากผู้ให้บริการรายเดิมไปรายใหม่โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการระบบกลาง มีการโอนย้ายสำเร็จภายในวันที่ยื่นคำขอทันทีหรือมีการโอนย้ายในวันหยุดที่ไม่ใช่วันทำการ รวมทั้งมีการโอนย้ายผ่านระบบ OTA หรือ Over-the-air ก่อนส่งคำขอโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการระบบกลาง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีคำสั่งทางปกครองลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 แจ้งผู้ให้บริการที่กระทำผิดให้ยุติการกระทำดังกล่าวภายใน 30 วัน แต่ผู้ให้บริการได้ยื่นอุทธรณ์ อย่างไรก็ดี คำอุทธรณ์ของผู้ให้บริการไม่เป็นผล เพราะที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ยังคงมีมติยืนยันว่าคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมาย ในที่สุดผู้ให้บริการบางส่วนจึงยื่นฟ้องศาลปกครองโดยอ้างเหตุผลว่า คำขอโอนย้ายของผู้ใช้บริการในตอนนั้นมีปริมาณคงค้างจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการแตกต่างจากขั้นตอนตามเงื่อนไขของแนวปฏิบัติ

สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำนักงาน กสทช. หยิบยกวาระนี้เสนอต่อที่ประชุม กทค. ก็เพื่อขอให้ที่ประชุมกำหนดแนวทางในการสู้คดีต่อไป

วาระการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่น
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอผลการตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ ความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ และความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา พร้อมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการคืนคลื่น ความถี่ตามมาตรา 84 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว กำหนดหน้าที่ของ กสทช. ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ โดยผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ก็ให้ยังสามารถใช้คลื่นต่อไปได้จนถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่ โดย กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นเพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 15 ปี นับตั้งแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ใช้บังคับ และไม่เกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีหลายกรณีที่ยังไม่มีการชี้ชัดถึงเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ว่าชอบด้วยกฎหมาย เช่นการตรวจสอบเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่กรณี บริษัท ทีที แอนด์ ที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือกรณีที่พบว่ามีกระบวนการแก้ไขเงื่อนไขของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่นกรณีการให้บริการสื่อสารดาวเทียมของ บมจ. ไทยคม กับกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เคยวินิจฉัยว่า วัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของดาวเทียมไทยคม 4 (IPSTAR) ไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทาน จึงถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน

ดังนั้นในการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ ที่ประชุม กทค. จึงต้องพิจารณาในกรณีเหล่านี้ด้วยความรอบคอบด้วย