พิจารณาร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ, หลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 MHz, การปรับปรุงประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ, รายงานการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว

as15.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 15/2558 วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ทั้งเรื่องการพิจารณาร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ เรื่องการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นย่าน 900 MHz เรื่องการปรับปรุงประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ และเรื่องรายงานการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ส่วนวาระเรื่องการแก้ไขประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานฯ หรือประกาศมาตรการเยียวยา ซึ่งในการประชุมครั้งที่แล้วยังไม่ได้มีการพิจารณา ในการประชุมครั้งนี้ พบว่ายังไม่มีการบรรจุอยู่ในวาระการประชุม

วาระพิจารณาร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ
ประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเป็นประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อห้ามการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่ต้องออกตามบทบัญญัติ แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 31 วรรคสอง ที่ได้กำหนดห้ามผู้ประกอบกิจการดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

ร่างประกาศดังกล่าวในส่วนของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้ออกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 แต่สำหรับกิจการโทรคมนาคม จนบัดนี้ก็ยังคงอยู่ในกระบวนการ ถึงแม้ว่าแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ รวมถึงแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมจะกำหนดให้ต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีก็ตาม

วาระที่ กทค. ต้องพิจารณาในครั้งนี้คือการพิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งมีการดำเนินการไปในระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม ที่ผ่านมา หรือเสร็จสิ้นไปแล้วเกือบ 4 เดือน พร้อมทั้งพิจารณาเนื้อหาของร่างประกาศที่สำนักงาน กสทช. ได้ปรับปรุงภายหลังการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหลังจากนั้นจะต้องนำวาระดังกล่าวนี้เสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง จึงจะนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประกาศมีผลเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ต่อไป

เป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการดำเนินการเรื่องนี้มีความล่าช้าตลอดเส้นทาง แต่ประเด็นที่สำคัญในขณะนี้ก็คือเนื้อหาของร่างประกาศ ซึ่งปรากฏว่า ร่างที่สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงขึ้นมานั้นมีหลายประเด็นที่ส่งผลเป็นการลดทอนการคุ้มครองผู้บริโภคให้น้อยลง หรือมีความยุ่งยากมากขึ้นในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น มีการตัดข้อความ “…ที่มีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร” ในร่างข้อ ๕ (๔) ออกไป และในส่วนของ ข้อ ๕ วรรคสอง (๕) ของร่างประกาศที่ว่าด้วยการห้ามผู้ประกอบกิจการโฆษณาเข้ามายังเครื่องโทรคมนาคมหรืออุปกรณ์ของผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ มีการเติมข้อความ “โดยผู้บริโภคได้แจ้งไม่ยอมรับโทรศัพท์ หรือข้อความดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการโทรคมนาคม” ซึ่งส่งผลให้ความคุ้มครองในข้อนี้ที่ตามร่างเดิมมีลักษณะคุ้มครองเป็นการทั่วไป กลายเป็นคุ้มครองเฉพาะกรณีที่ผู้บริโภคได้แจ้งไว้เท่านั้น ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ทั้งการตัดและการเติมข้อความดังกล่าวนั้น สำนักงาน กสทช. เป็นฝ่ายคิดขึ้นเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเสนอในการรับฟังความคิดเห็น

เหตุจากการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากลดังกล่าวนี้เอง ทำให้ในการเสนอวาระนี้ให้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2558 พิจารณาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา กสทช. ประวิทย์ฯ ได้แสดงความเห็นโต้แย้งไว้ รวมถึงมีข้อเสนอให้ปรับปรุงสาระของร่างประกาศในประเด็นอื่นๆ อีก เช่น การนิยามคำว่า “ผู้บริโภค” ที่ควรสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เนื่องจากจะครอบคลุมไปถึงผู้ได้รับการเสนอหรือชักชวนใช้บริการด้วย มิใช่จำกัดเพียงผู้ใช้บริการตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 การเพิ่มเติมความคุ้มครองไปถึงกรณีการกำหนดเงื่อนไขว่าในพื้นที่หนึ่งๆ สามารถใช้บริการได้เฉพาะรายใดรายหนึ่ง การแจกซิมฟรีโดยไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างครบถ้วนว่าจะต้องเสียค่าบริการรายเดือน หรือไม่แจ้งรายละเอียดอย่างครบถ้วน เกี่ยวกับเงื่อนไขอัตราค่าบริการ และมาตรฐานการให้บริการ เป็นต้น ซึ่งการเสนอให้รวมกรณีเหล่านี้เข้าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบด้วยก็จะหมายความว่า ผู้ประกอบกิจการจะถูกประกาศฉบับนี้ห้ามทำเรื่องเหล่านี้ แต่สำนักงาน กสทช. ไม่รับข้อเสนอเหล่านี้ ในขณะที่ที่ประชุมเสียงข้างมากหยิบยกความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเหตุ แล้วนำเสนอให้ส่งวาระนี้ไปให้คณะอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายพิจารณา ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้กระบวนการยืดยาวออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ภายหลัง กสทช. ประวิทย์ฯ ยืนกรานปฏิเสธข้อเสนอนี้ของที่ประชุม มติจึงยุติลงที่ให้สำนักงาน กสทช. ถอนเรื่องออกไปแล้วจัดทำข้อมูลเทียบเคียงประเด็นเห็นต่างเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณาชี้ขาดอีกครั้ง อันเป็นเหตุให้วาระนี้วนกลับมาสู่ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 15 นี้ ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าที่ประชุม กทค. จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาร่างประกาศนี้ได้สมเหตุสมผลเพียงใด

compare-comment

วาระเรื่องการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นย่าน 900 MHz
วาระนี้เป็นอีกประเด็นสำคัญที่เพิ่งมีการบรรจุวาระเพิ่มเติมไม่ถึง 1 วันก่อนการประชุม โดยร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz นี้ จะมีการนำคลื่นออกประมูลขนาด 2 X 10 MHz จำนวน 2 ชุด โดยประเด็นสำคัญที่น่าจับตาคือเรื่องการกำหนดมูลค่าคลื่นและราคาตั้งต้นในการประมูล เพราะก่อนหน้านี้ก็มีเสียงวิจารณ์มาตลอดว่าการประเมินมูลค่าคลื่นของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นั้น ประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ ส่วนเรื่องเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่าย หลักเกณฑ์ที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณานั้นกำหนดไว้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายใน 4 ปี ซึ่งนับว่าต่ำมากและไม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของคลื่นย่านนี้ที่มีลักษณะของการครอบคลุมพื้นที่ได้ดี หรือที่เรียกว่าคลื่นย่าน Coverage Band การกำหนดไว้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจึงเข้าลักษณะที่เป็นการ “เสียของ” นอกจากนี้ยังมีหลักเกณฑ์สำคัญอื่นๆ อีกที่ยังคงไว้เช่นเดียวกับร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ไปเมื่อไม่นานมานี้ เช่นเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการถือครองคลื่นสูงสุด (Overall Spectrum Cap) ไว้ที่ 60 MHz และเรื่องการกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ. ทีโอที (TOT) เข้าประมูลพร้อมกันได้

วาระการแก้ประกาศเรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุม กทค. เพื่อขอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ให้เป็นร่างประกาศ กสทช. โดยประกาศ กทช. ดังกล่าวมีการกำหนดให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับใบอนุญาตหากมีการซื้อผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมของผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการทักท้วงจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่าข้อกำหนดดังกล่าวอาจขัดกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT) และความตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า (TRIMs) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก การปรับปรุงแก้ไขประกาศจึงต้องคำนึงถึงข้อตกลงทางการค้าเหล่านี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการร้องเรียนหรือฟ้องร้องจากประเทศสมาชิกได้

วาระรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว

เรื่องนี้ได้รับการบรรจุอยู่ในวาระการประชุมมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ยังคงไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม โดยวาระนี้เป็นการรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557 ให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ รวมทั้งเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ทั้งในกรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทเอกชนและเป็นรัฐวิสาหกิจ
รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557 ระบุว่า ในปี 2557 มีผู้รับใบอนุญาตที่เข้าข่ายมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช. ทราบ จำนวนทั้งสิ้น 59 ราย แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 53 ราย และผู้รับสัมปทานจำนวน 6 ราย แต่ปรากฏว่ามีจำนวน 12 รายที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 เนื่องจากไม่จัดส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานหรือจัดส่งมาไม่เพียงพอต่อการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ต้องติดตามเอกสารหลักฐานและตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

สำหรับประเด็นที่น่าจับตาในวาระนี้ก็คือข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอให้อนุโลมรายงานการตรวจสอบข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าวตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามประกาศกำหนด ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะทำให้ขาดข้อมูลที่ครบถ้วนหรือเพียงพอต่อการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. ได้ แม้ในทางปฏิบัติประกาศฉบับนี้อาจไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยก็ตาม กล่าวคือ มีการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ลงรายละเอียดถึงในระดับการบริหารงานภายในบริษัท เช่นการห้ามถือหุ้นโดยคนต่างด้าวที่มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด การห้ามถือหุ้นโดยคนต่างด้าวที่มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือการห้ามแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดโดยคนต่างด้าว ซึ่งการกำหนดรายละเอียดในลักษณะนี้อาจสร้างความไม่มั่นใจในการลงทุนของต่างชาติได้ ซึ่งในครั้งที่มีการออกประกาศดังกล่าวก็มีการทักท้วงจากหลายฝ่ายและมติไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ กทค. เสียงข้างมากก็ดึงดันจนกฎถูกประกาศออกมา จนเกิดปัญหาในทางปฏิบัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือการแก้ไขประกาศ มิใช่การมาขอมติเพื่อผ่อนผันกฎ