รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย, การสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ, เรื่องร้องเรียนกรณีถูกคิดค่าโทรแบบปัดเศษเป็นนาที

bbb777

วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 7/2558 วันพุธที่ 8 เมษายน 2558 มีวาระที่น่าจับตาทั้งเรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาส 4 ปี 2557 เรื่องผลการหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. กรณีการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ และเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคถูกคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบปัดเศษเป็นนาที

วาระเรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาส 4 ปี 2557

วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 พบว่า DTN ให้บริการคงสิทธิเลขหมายเพิ่มขึ้นจาก 4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วน AWN ให้บริการคงสิทธิเลขหมายลดลงจาก 21 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ให้บริการอีกสามราย คือ CAT, Real Future, TOT มีการให้บริการโอนย้ายเลขหมายน้อยมาก ในภาพรวมจึงยังคงมีขีดความสามารถในการโอนย้ายที่ไม่ถูกใช้งานอีกกว่า 68 เปอร์เซ็นต์

สำหรับประสิทธิภาพการให้บริการคงสิทธิเลขหมายเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนของทั้ง 5 กลุ่มบริษัท พบว่า AWN และ DTN มีประสิทธิภาพมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วน CAT และ Real Future มีประสิทธิภาพการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และ TOT มีประสิทธิภาพต่ำสุด คือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า จากข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ที่เริ่มมีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือบริการ 3G จนถึงเดือนธันวาคม 2557 จากจำนวนการโอนย้ายทั้งหมดกว่า 44.75 ล้านเลขหมาย กว่า 97.9 เปอร์เซ็นต์ เป็นการโอนย้ายภายในกลุ่มบริษัทในเครือจากบริการ 2G สู่ 3G อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่าบางเดือนพบสถิติการโอนย้ายผิดปกติ เช่นในเดือนมิถุนายน 2557 พบว่ามีการโอนย้ายผู้ใช้บริการจาก DTAC ไป DTN สูงถึง 1,860,000 เลขหมาย และในเดือนกันยายน 2557 มีการโอนย้ายผู้ใช้บริการจาก AIS ไป AWN สูงมากกว่า 1,900,000 เลขหมาย ทั้งที่ขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมายของผู้ให้บริการแต่ละรายอยู่ที่ 60,000 เลขหมายต่อวัน นั่นหมายความว่าในแต่ละเดือน ผู้ให้บริการแต่ละรายมีขีดความสามารถสูงสุดในการให้บริการคงสิทธิเลขหมายอยู่ที่ 1,800,000 เลขหมายเท่านั้น การโอนย้ายที่สูงกว่าขีดความสามารถนี้จึงอาจสะท้อนว่ามีการโอนย้ายนอกระบบเกิดขึ้นหรือไม่

ปริมาณตัวเลขที่ผิดปกตินี้ยังสอดรับกับที่ก่อนหน้านี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เคยมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. และ กทค. ขอให้ตรวจสอบข้อมูลและทบทวนบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย โดยให้ชี้แจงกลับภายใน 60 วัน เนื่องจากตรวจพบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนาขอโอนย้ายตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทำให้รัฐเสียหาย เพราะการโอนย้ายโดยลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้สัญญาที่ TOT และ CAT ควรได้รับ ในฐานะเป็นคู่สัญญาร่วมการงาน

วาระนี้จึงไม่ธรรมดา เพราะแม้จะเป็นเพียงวาระรายงานเพื่อทราบ แต่ก็เป็นการแสดงข้อมูลและตอกย้ำปัญหากรณีอาจมีการโอนย้ายใช้บริการนอกระบบให้ที่ประชุม กทค. รับทราบว่าไม่สามารถนิ่งดูดายได้ ซึ่งคงต้องติดตามว่าสำนักงาน กสทช. และ กทค. จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

วาระผลการหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. กรณีการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ
สืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลจังหวัดตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ ผบ891/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ผบ 533/2557 ระหว่างบริษัท AIS เป็นโจทก์ฟ้องผู้ใช้บริการรายหนึ่งในข้อหาผิดสัญญาการใช้บริการโทรคมนาคม ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า กรณีที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์หมดสิทธิคิดค่าบริการ เพราะไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดวิธีการคำนวณค่าบริการแก่จำเลยภายในเวลาที่กำหนดตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า “ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ และต้องแจ้งข้อมูลให้ผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ให้บริการสิ้นสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ” โดยศาลเห็นว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เท่านั้น จึงไม่มีสภาพบังคับตัดสิทธิโจทก์ในการเรียกเก็บค่าบริการกับจำเลย และเมื่อจำเลยยังไม่ชำระค่าบริการที่ถึงกำหนดชำระแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดชำระค่าบริการแก่โจทก์

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 2/2558 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเรื่องดังกล่าวหารือกับคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ว่า ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ หากผู้ให้บริการไม่ชี้แจงแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายใน 60 วัน สำนักงาน กสทช. และ กทค. สามารถบังคับให้ผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการตามประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญาฯ ข้อ 22 วรรคสองได้หรือไม่

วาระเพื่อทราบในที่ประชุมคราวนี้จึงเป็นการนำเสนอผลการหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ซึ่งที่ประชุมมีมติว่า “เมื่อประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 ยังมีผลใช้บังคับ เมื่อกำหนดให้ผู้ให้บริการจะต้องพิสูจน์ยืนยันการเรียกเก็บค่าบริการภายใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการย่อมสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว และคำพิพากษาศาลตลิ่งชันไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอกหรือทำให้ประกาศสิ้นผลใช้บังคับแต่อย่างใด” นั่นหมายความว่าในกรณีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการผิดพลาด ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์หลักฐานอย่างชัดแจ้งภายใน 60 วัน มิเช่นนั้นจะถือว่าสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ และหลักเกณฑ์นี้ยังคงถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กทค. ได้ต่อไป

อนึ่ง เหตุผลที่ประกาศดังกล่าวกำหนดกรอบเวลาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็เพื่อบังคับมิให้ผู้ให้บริการประวิงเวลาในการแสดงพยานหลักฐานจนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคไม่อาจยุติได้นั่นเอง เนื่องจากเป็นที่ชัดแจ้งว่าบรรดาพยานหลักฐานทั้งปวงนั้นอยู่ที่ผู้ให้บริการเป็นสำคัญ

วาระเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคถูกคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบปัดเศษเป็นนาที

วาระนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง แต่เป็นการคิดค่าบริการแบบปัดเศษเป็นนาที ซึ่งรายการส่งเสริมการขายเกือบทั้งหมดในท้องตลาดใช้ระบบการคิดค่าบริการในลักษณะนี้อยู่ โดยกรณีที่มีการนำเสนอให้ กทค. พิจารณาในครั้งนี้ ผู้ร้องเรียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด แพ็กเกจ iSmart 899 ค่าบริการเดือนละ 899 บาท โทรได้ 500 นาที รวมการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่ปรากฏว่าในรอบบิลวันที่ 28 มกราคม – 27 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัทเรียกเก็บค่าบริการจำนวน 1,218.20 บาท เมื่อผู้ร้องเรียนสอบถามไปยังบริษัท ก็ได้รับแจ้งว่ามีการใช้งานเกิน 500 นาที เป็นเวลา 158 นาที ทั้งที่จากการคำนวณเวลาของผู้ร้องเรียน พบว่าในช่วงเดือนนั้นมีการใช้งานอยู่เพียง 348.22 นาทีเท่านั้น

เรื่องนี้ทางบริษัท เรียล มูฟ ยอมรับว่าไม่ได้คิดค่าโทรตามปริมาณการใช้งานจริง โดยระบุว่ารายการส่งเสริมการขายที่ผู้ร้องเรียนใช้บริการนั้นเป็นแบบเหมาจ่ายขั้นต่ำรายเดือน โดยคิดค่าบริการตามจริงเป็นนาที เศษของนาทีคิดเป็นหนึ่งนาที โดยนาทีที่ 501 เป็นต้นไป คิดค่าบริการในอัตรานาทีละ 1.25 บาท ซึ่งการระบุข้อความในรายการส่งเสริมการขายเช่นนี้ก็มีข้อถกเถียงว่า บริษัทสามารถปัดเศษนาทีทุกครั้งที่ผู้บริโภคโทรออก หรือทำได้เพียงการปัดเศษครั้งสุดท้ายภายหลังที่รวมเวลาในการโทรออกทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อที่น่าสังเกตคือว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เกือบทุกค่ายใช้ระบบการคิดค่าบริการแบบปัดเศษนาทีเป็นหนึ่งนาทีในทุกครั้งที่ผู้บริโภคโทรออก แต่ในส่วนต้นทุนการคิดค่าบริการของการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเองนั้น กลับเป็นการคิดค่าบริการแบบนับต่อเนื่องเป็นวินาทีแล้วจึงปัดเศษเป็นนาทีในจำนวนสุดท้ายเท่านั้น จึงเป็นรูปแบบที่แตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคเสียเท่าไรนัก

วาระนี้คงไม่เพียงต้องจับตาว่าผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กทค. จะมีบทสรุปเช่นไร แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คงต้องทบทวนกันหน่อยว่า ผลจากการประกาศนโยบายของสำนักงาน กสทช. ที่ขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทุกรายคิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริงโดยไม่ปัดเศษนั้นมีความคืบหน้าไปถึงไหน ซึ่งเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ก็ฉายภาพปัญหาให้เห็นชัดแล้วว่า สำนักงาน กสทช. มีความจำเป็นที่ต้องกำกับดูแลอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดค่าบริการทั้งระบบเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง

---------.7-2558-v2