จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 11/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 11/2560 วันพุธที่ 6 กันยายน 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องการทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เรื่องการกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด เรื่องพิจารณาร่างประกาศมาตรฐานของคุณภาพให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูล เรื่องปรับแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 เรื่องพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามโฆษณา และเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ขณะที่ในส่วนของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีวาระที่น่าสนใจคือ เรื่องรายได้ที่เกี่ยวเนื่องจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ต้องนำมาคำนวณค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีเพิ่มเติม ซึ่งยังมีกรณีรายได้ที่ยังไม่ชัดเจนอยู่ 2 กรณี คือ กรณีรายได้จากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียมตามคำสั่ง คสช. และกรณีรายได้จากการแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการสำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่หรือช่องรายการผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ล

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่าจับตาอย่างมาก คือหนังสือตอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีการดำเนินโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน หรือโครงการเน็ตชายขอบ ซึ่ง สตง. ได้มีหนังสือตอบกลับมายังสำนักงาน กสทช. แล้ว แม้จะยังไม่มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวในวาระล่วงหน้า แต่ก็มีข่าวว่าเลขาธิการ กสทช. จะนำเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ด้วย

วาระทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
วาระนี้สืบเนื่องจากฐานอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 45 วรรคสาม กำหนดว่า “ให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมและค่าธรรมเนียมซึ่งต้องชำระเป็นรายปีโดยคำนึงถึงรายจ่ายในการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และการกำกับดูแลการประกอบกิจการอย่างมีประสิทธิภาพในอัตรารวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต” ขณะที่การกำกับดูแลอุตสาหกรรมในปัจจุบันของสำนักงาน กสทช. ปรากฏว่ามีเงินเหลือนำส่งรัฐเป็นหลักพันล้านบาทขึ้นไปเกือบทุกปี ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำวาระเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

สำหรับอัตราใหม่ที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาทบทวนนั้น คือ

ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.125, รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25, รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5, รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท – 5,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายปีที่จัดเก็บในปัจจุบัน นั่นคือ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25, รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5, รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.0, และรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ระบุว่า การลดค่าธรรมเนียมจะส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตมีต้นทุนในการให้บริการที่ลดลง มีค่าปัจจัยผลิตภาพในการผลิตที่ดีขึ้น และภายใต้ตลาดที่มีการแข่งขัน ผู้ประกอบการก็มีแนวโน้มที่จะนำต้นทุนที่ลดลงเหล่านั้นส่งต่อเป็นผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค เช่น การลดอัตราค่าบริการ การลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น หรือการแข่งขันในการเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางการตลาดให้แก่ผู้บริโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เหตุผลข้างต้นไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์ว่าการปรับลดค่าธรรมเนียมจะส่งผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคในวงกว้างจริงตามที่สำนักงาน กสทช. กล่าวอ้าง ดังนั้นหากจะสร้างหลักประกันให้การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคได้จริง สำนักงาน กสทช. ก็ควรต้องกำหนดมาตรการเฉพาะที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า แนวทางการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อาจยังไม่เป็นธรรมกับบริษัทที่ดำเนินกิจการภายใต้ใบอนุญาตประเภทเดียวที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในอัตราที่แตกต่างอย่างมากกับบริษัทที่ขอรับใบอนุญาตแยกตามบริษัทย่อย ทั้งที่บริษัทเหล่านี้อาจมีรายได้รวมไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ควรคำนึงถึงด้วย

—————————————–

วาระการกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอร่างประกาศเรื่อง การกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณา ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยเคยมีข้อหารือมายังสำนักงาน กสทช. ในเรื่องการกำกับดูแลบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินหรือการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ซึ่งลักษณะโดยรวมคล้ายกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ คือเป็นระบบที่มีการเติมเงินเข้าไปล่วงหน้า แล้วสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้ ดังนั้นจึงอาจเป็นช่องทางในการฟอกเงินได้

ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้ยกร่างประกาศดังกล่าวขึ้นเพื่อที่จะนำมาใช้กำกับดูแล โดยสาระสำคัญของร่างประกาศคือ ให้ค่ายมือถือกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการแบบพรีเพดไว้ไม่เกิน 10,000 บาท ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมีวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดเกินกว่า 10,000 บาท ก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ผู้ใช้บริการจะไม่สามารถเติมเงินเพิ่มได้จนกว่าวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการจะต่ำกว่า 10,000 บาท ขณะเดียวกันร่างประกาศก็กำหนดว่าผู้ใช้บริการสามารถแลกเปลี่ยนวงเงินคงเหลือเป็นจำนวนวันใช้งานด้วยอัตราที่มีความสมเหตุสมผลและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการแลกเปลี่ยนแต่ละครั้งต้องได้รับระยะเวลาใช้งานเพิ่มไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้เพื่อรองรับกรณีผู้ใช้บริการที่มีวงเงินสะสมสูงสุดเต็มจำนวน แต่วันใช้งานหมด ก็จะสามารถแลกเปลี่ยนเงินคงเหลือในระบบเป็นวันใช้งานได้

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องแนวทางการแลกเปลี่ยนเงินคงเหลือเป็นวันใช้งานของผู้ให้บริการในปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละราย เช่น ผู้ให้บริการบางรายคิดค่าบริการ 2 บาทเพื่อแลกวันใช้งานได้ 30 วัน แต่บางรายคิดสูงกว่านั้นหลายเท่า และในอนาคตผู้ให้บริการอาจจะกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างไปจากนี้อีกก็เป็นได้ ดังนั้นการที่ร่างประกาศระบุไว้เพียงว่า “ผู้ใช้บริการสามารถแลกเปลี่ยนวงเงินคงเหลือเป็นจำนวนวันใช้งานด้วยอัตราที่มีความสมเหตุสมผลและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค” จึงอาจก่อปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายได้ในอนาคต ว่าอัตราใดบ้างที่มีความสมเหตุสมผลและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ต่อประเด็นนี้ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีความเห็นว่า

“การกำกับดูแลในส่วนนี้ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่เรื่องของการกำหนดอัตราที่เท่ากัน แต่เป็นเรื่องการกำหนดอัตราให้มีมาตรฐาน เช่นอาจกำหนดอัตราขั้นสูงที่เหมาะสม โดยผู้ให้บริการยังสามารถมีการแข่งขันกำหนดอัตราแตกต่างกันได้ภายใต้เพดานดังกล่าว แต่ไม่ใช่ปล่อยให้บางรายกำหนดอัตราแพงแบบไม่มีเหตุผลดังเช่นที่เป็นอยู่ ทั้งนี้สำหรับอัตรา 2 บาทในการแลกวัน 30 วันที่เป็นอัตราหลักในตลาดปัจจุบันนั้น มีที่มาชัดเจนว่าเป็นค่าธรรมเนียมเลขหมาย ซึ่งในการกำหนดอัตราที่เหมาะสม แท้จริงแล้วสำนักงาน กสทช. ควรต้องตรวจสอบว่าอัตราที่เป็นต้นทุนของกรณีนี้คือเท่าไร นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมเลขหมายแล้วมีต้นทุนอื่นอีกหรือไม่ ส่วนกรณีมีแนวความคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะเดียวกับค่ารักษาบัญชีธนาคาร อาจต้องเปรียบเทียบโดยรอบคอบว่าเป็นกรณีที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เนื่องจากเงินในระบบโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการนั้นมิใช่การฝากเพื่อรับผลตอบแทน แต่เป็นการชำระค่าบริการล่วงหน้า บริษัทผู้ให้บริการสามารถนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับรายได้จากการใช้บริการที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ในการเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีของธนาคารก็มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนกำกับด้วย นั่นคือจะต้องมีเงื่อนไขครบองค์ประกอบ 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ ระดับของยอดเงินคงเหลือในบัญชีน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดและบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวในระยะเวลาที่ยาวนานระดับหนึ่ง ดังนั้นหากจะนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ ก็จะต้องพิจารณากำหนดกติกาที่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน”

—————————————–

วาระพิจารณาร่างประกาศเรื่องมาตรฐานของคุณภาพให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูล
ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยได้เข้าสู่ระบบการสื่อสารไร้สายยุค 4G แต่ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลฯ ฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเทคโนโลยีในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขค่ามาตรฐานของคุณภาพเป็นร่างประกาศฉบับใหม่ และเตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณา ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

สำหรับค่ามาตรฐานของคุณภาพทางด้านเทคนิคที่ปรากฏอยู่ในร่างประกาศ ได้แก่

ค่า Round Trip Time (RTT) สำหรับเทคโนโลยี 2G ไม่เกิน 1,000 ms (1 second), สำหรับเทคโนโลยี 3G ไม่เกิน 500 ms, สำหรับเทคโนโลยี 4G ขึ้นไป ไม่เกิน 150 ms โดยค่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

อัตราส่วนจำนวนครั้งที่ใช้ FTP ได้สำเร็จ (FTP Success ratio) สำหรับ 2G ขึ้นไป กรณี Download ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และกรณี Upload ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

ความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลของ FTP (FTP mean data rate) กำหนดไว้คือ 1) กรณี Download สำหรับ 4G ขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 2.5 Mbps สำหรับ 3G ไม่ต่ำกว่า 750 kbps โดยค่าเป้าหมายร้อยละ 75 ของการรับส่ง FTP ที่สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด (Timeout) 2) กรณี Upload สำหรับ 4G ขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 500 kbps สำหรับ 3G ขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 300 kbps สำหรับ 2G ไม่ต่ำกว่า 20 kbps โดยค่าเป้าหมายร้อยละ 65 ของการรับส่ง FTP ที่สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด (Timeout)

อัตราส่วนจำนวนครั้งที่ HTTP โหลดได้สำเร็จ (HTTP success ratio) สำหรับ 4G ขึ้นไป ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 โดยเวลาที่กำหนดไม่เกิน 1 นาที สำหรับ 3G ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 โดยเวลาที่กำหนดไม่เกิน 3 นาที และสำหรับ 2G ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยเวลาที่กำหนดไม่เกิน 10 นาที

ส่วน อัตราส่วนจำนวนครั้งที่สามารถเข้าถึงบริการสตรีมมิ่ง (Streaming service accessibility) และ อัตราส่วนจำนวนครั้งการแสดงวีดิทัศน์แบบสตรีมมิ่งได้อย่างสมบูรณ์ (Streaming reproduction success ratio) นั้น ให้ผู้ประกอบการทำการวัดและรายงานค่าผลการวัดให้สำนักงาน กสทช. สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดค่าเป้าหมายภายหลังจาก 2 ปีนับถัดจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ดี ในการปรับปรุงร่างประกาศฉบับนี้ สำนักงาน กสทช. ใช้วิธีการจัดประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหลัก ซึ่งมีการจัดประชุมจำนวน 3 ครั้ง ดังนั้นค่ามาตรฐานต่างๆ ที่ได้รับการกำหนดขึ้น จึงไม่แน่ว่าสามารถสะท้อนมาตรฐานของอุตสาหกรรมที่เป็นสากลได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีคุณภาพเพียงพอที่จะรองรับยุคเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือไม่อย่างไร ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งสำนักงาน กสทช. ก็คงต้องเร่งยกร่างประกาศอย่างรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันผู้ให้บริการทั้งหลายได้เปิดให้บริการโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 4G มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ประกาศที่บังคับใช้อยู่นั้นล้าสมัย

—————————————–

วาระปรับแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาปรับแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ทั้งนี้ ภายหลังคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาการปรับแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ภายในกรอบวงเงินแผนงบประมาณรายจ่ายที่อนุมัติไว้เดิม จำนวน 5,485.303 ล้านบาท โดยสรุปคือ พิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายตามข้อเสนอของหน่วยงานลงเป็นจำนวน 85.355 ล้านบาท โดยนำไปสมทบเพิ่มเงินงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น และพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มจำนวน 155.486 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณจากเงินกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ได้พบปัญหาอุปสรรคประเด็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประชาสัมพันธ์ภารกิจด้านต่างๆ ของสำนักงานว่า การจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประชาสัมพันธ์แยกตามภารกิจแต่ละสายงานนั้น อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน จึงเห็นควรนำส่งคำขอตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมแผนกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคมของสำนักงาน กสทช. พิจารณาให้มีการบูรณาการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. กรณีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีเป็นจำนวนสูงและไม่อาจดำเนินการเบิกจ่ายได้ทันตามระเบียบฯ ทำให้การจัดทำและการบริหารงบประมาณขาดวินัยทางการเงิน การคลัง คณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณฯ จึงเห็นควรนำข้อสังเกตดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการจัดทำและบริหารงบประมาณต่อไปด้วย

—————————————–

วาระพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามโฆษณา

วาระนี้เป็นเรื่องการพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ว่า ประสบปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ คุณภาพสัญญาณไม่ดี ไม่เป็นไปตามโฆษณา ทั้งนี้ ผู้บริโภครายดังกล่าวได้สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โปรโมชั่น Go No Limit 699 ของผู้ให้บริการรายหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่า “ความเร็ว 4 Mbps เน็ตไม่อั้น ไม่ลดสปีด” แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงคราวใช้งานจริง กลับไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ตามความเร็วที่ระบุไว้ในโฆษณา ซึ่งเมื่อทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต (Speed Test) แล้วพบว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 1.75 Mbps และความเร็วอินเทอร์เน็ตในการอัพโหลดอยู่ที่ 0.40 Mbps จึงติดต่อสอบถาม ไปยังคอลล์เซ็นเตอร์ของบริษัทฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตสามารถลดลงได้ แต่จะไม่ลดจนต่ำกว่าความเร็ว 384 Kbps ดังนั้นผู้บริโภคจึงเห็นว่าบริการของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามโฆษณา และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ต่อกรณีนี้ ภายหลังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมพิจารณาแล้ว ได้มีมติว่า ให้บริษัทปรับปรุงคุณภาพบริการให้เป็นไปตามโฆษณา หากไม่สามารถให้บริการได้ตามที่โฆษณา ก็ให้เยียวยาผู้บริโภคโดยปรับลดค่าบริการให้เหมาะสมตามการใช้งานจริง รวมทั้งให้บริษัทปรับปรุงโฆษณาการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ผู้บริโภคเข้าใจอย่างชัดเจน และตรงกับสภาพการใช้งานจริง โดยระบุความเร็วสูงสุด ความเร็วต่ำสุด และความเร็วเฉลี่ย นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการฯ ยังได้มีมติให้นำหลักการเรื่องการโฆษณานี้ไปใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ด้วย

ปัญหาเรื่องคุณภาพบริการโดยเฉพาะเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณานั้น เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคทั่วไปประสบกันถ้วนหน้า วาระนี้จึงนับว่าจับตาอย่างมากว่า กสทช. จะมีมติเช่นไร เพื่อวางบรรทัดฐานไม่ให้มีการโฆษณาในเชิงที่เป็นการเอาเปรียบเช่นนี้

—————————————–

วาระการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน

วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ กสทช. ทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. กรณีที่นายปรเทพ สุจริตกุล ขอให้สำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งผลการพิจารณาเห็นว่า นายปรเทพครบระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งกรรมการ กตป. แล้วตั้งแต่เมษายน 2559 กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ กสทช. จะต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กตป. ตามที่นายปรเทพร้องขอ ซึ่งในประเด็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายปรเทพนั้น สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 เห็นว่า พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประสงค์ให้คณะกรรมการ กตป. มีวาระการดำรงตำแหน่งเริ่มต้นพร้อมกันและสิ้นสุดวาระไปพร้อมกัน โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นต้องคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างเพื่อให้คณะกรรมการฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ นายปรเทพซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง จึงต้องมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานที่ตนได้รับการคัดเลือกเข้ามาแทนด้วย

อนึ่ง นายปรเทพได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการ กตป. จากที่ประชุมสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ของกรรมการ กตป. ที่นายปรเทพได้รับคัดเลือกให้มาดำรงตำแหน่งแทนนั้นสิ้นสุดลงในวันที่ 23 เมษายน 2559 อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็นสถานะการดำรงตำแหน่งของนายปรเทพแล้ว ปมปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ปัจจุบันไม่มีคณะกรรมการ กตป. ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด