จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 10/2560

10.60

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 10/2560 วันอังคารที่ 18 เมษายน 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องพิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางและจำนวนค่าปรับทางปกครองกรณีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3 ราย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคงสิทธิเลขหมาย เรื่องการปรับปรุงการคิดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และเรื่องการดำเนินคดีกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม กรณีใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งมีวาระเรื่องเพื่อทราบที่น่าสนใจ ได้แก่ รายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม และรายงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ประจำเดือนธันวาคม 2559

วาระข้อเสนอแนะแนวทางและจำนวนค่าปรับทางปกครองกรณีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3 ราย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคงสิทธิเลขหมาย
วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม 3 ราย ได้แก่ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต, และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 จนกระทั่งเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งลงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 กำหนดค่าปรับทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 11,801,567 บาท นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันแจ้งเตือนจนถึงช่วงเวลาสิ้นสุดการกระทำฝ่าฝืน จำนวน 41 วัน รวมเป็นเงิน 483,864,247 บาท ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 6,156,184 บาท จำนวน 17 วัน รวมเป็นเงิน 104,655,128 บาท และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 169,244 บาท จำนวน 44 วัน รวมเป็นเงิน 7,446,736 บาท คิดเป็นยอดค่าปรับทางปกครองทั้งหมดของผู้ประกอบการสามรายคือ 595,966,111 บาท อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ยื่นอุทธรณ์ และมี กทค. บางท่านเห็นว่าอัตราค่าปรับทางปกครองที่สำนักงาน กสทช. คำนวณนั้นสูงเกินไป ด้วยเหตุนี้ ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 กทค. เสียงข้างมากก็ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาทบทวนคำสั่งกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครองใหม่

สำหรับวาระที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องขอให้ กทค. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการคำนวณค่าปรับทางปกครองและจำนวนค่าปรับทางปกครองที่คำนวณใหม่ตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ โดยกำหนดให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 5,400,591.64 บาท จำนวน 41 วัน รวมเป็นเงิน 221,424,257.34 บาท ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต กำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 1,239,538.88 บาท จำนวน 17 วัน รวมเป็นเงิน 21,072,160.99 บาท และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น กำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 166,576.30 บาท จำนวน 44 วัน รวมเป็นเงิน 7,329,357.05 บาท คิดเป็นยอดรวมค่าปรับทางปกครองทั้งหมดของผู้ประกอบการทั้งสามราย คือ 249,825,775.38 บาท ซึ่งจะพบว่าน้อยกว่าจำนวนค่าปรับทางปกครองที่กำหนดไว้เดิมกว่า 346.14 ล้านบาท

Untitled

สำหรับหลักการที่ใช้เป็นแนวทางในการคำนวณซึ่งทำให้จำนวนค่าปรับลดลงนี้ คณะทำงานฯ มองว่า “แม้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีความจงใจที่จะกระทำความผิดดังกล่าว แต่ต้องกระทำเพราะความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจากการใช้บริการเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ขณะที่ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากการโอนย้ายเลขหมาย เช่น ช่วยประหยัดค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาเพื่อไปโอนย้ายเลขหมาย และค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายเลขหมาย จึงต้องคิดค่าปรับทางปกครองให้เหมาะแก่พฤติการณ์การกระทำความผิด”

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าคิดว่าหลักการที่คณะทำงานฯ กล่าวอ้างเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการทบทวนการคำนวณค่าปรับนั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าการโอนย้ายผู้ใช้บริการเกิดขึ้นด้วยความจงใจกระทำผิด เนื่องจากการโอนย้ายผู้ใช้บริการจำเป็นจะต้องมีขั้นตอนการเตรียมการและโอนย้ายอย่างเป็นระบบ ยิ่งไปกว่านั้น หลักการสำคัญของเรื่องการโอนย้ายเลขหมายคือความสมัครใจของผู้ใช้บริการที่จะโอนย้ายเลขหมายไปใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวเป็นที่มาของการมีคำสั่งให้ชำระค่าปรับในครั้งนี้ หากคณะทำงานฯ เห็นว่าการกระทำผิดนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ก็ควรจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่ถูกโอนย้ายเลขหมายในครั้งนี้ได้แสดงเจตนาที่จะโอนย้ายเลขหมายไปใช้บริการของผู้ให้บริการรายใหม่คิดเป็นจำนวนเท่าไรเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้บริการที่ถูกโอนย้ายโดยไม่ชอบทั้งหมด เพราะโดยข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ามีผลกระทบตามมามากมาย เช่น ผู้บริโภคจำนวนมากที่ถูกโอนย้ายเลขหมายโดยไม่รู้ตัว ต้องประสบปัญหาตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถรองรับการใช้งานในระบบใหม่ได้ ทำให้ไม่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เกิดความเสียหายและต้นทุนที่ต้องเดินทางไปเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่ ขณะที่ผู้บริโภคบางรายเมื่อเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่ ก็ถูกบังคับให้ต้องใช้โปรโมชั่นที่แพงขึ้น และที่สำคัญเป็นการละเมิดเรื่องความสมัครใจซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตต่อผลการคำนวณค่าปรับทางปกครองของคณะทำงานฯ ด้วยว่า ถึงแม้ผลการคำนวณค่าปรับของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต จะลดลงจากเดิม แต่ยังคงสูงกว่าผลการคำนวณค่าปรับของ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น อยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีประเด็นว่าแนวทางในการคำนวณค่าปรับทางปกครองนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้พิจารณาให้ความสำคัญถึงข้อท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เคยมีหนังสือสอบถามการดำเนินการจัดการปัญหาของ กทค. และสำนักงาน กสทช. มาแล้วหลายครั้ง ในเรื่องที่การฝ่าฝืนดังกล่าวกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ควรได้รับ ซึ่งกระทบต่อรายได้เข้าสู่รัฐด้วย

แน่นอนว่า หากข้อเสนอแนะแนวทางและการคำนวณค่าปรับทางปกครองไม่ได้คำนึงถึงความสมเหตุสมผลของการกระทำความผิดและความเสียหายต่อสาธารณะ ก็อาจทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของ กทค. และสำนักงาน กสทช. ว่าเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับใบอนุญาตหรือไม่

——————————-

วาระปรับปรุงการคิดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 30/2559 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 มีมติเรื่องการลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก เพื่อบังคับใช้เป็นหลักเกณฑ์ชั่วคราวสำหรับการลดค่าบริการเมื่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์ไปยังเลขหมาย 1663 ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยหากโทรจากโทรศัพท์ประจำที่ อัตราค่าโทรเท่ากับ 1 บาท/ครั้ง แต่ถ้าโทรจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราค่าโทรเท่ากับ 1 บาทใน 15 นาทีแรก หลังจาก 15 นาทีแรกคิดค่าบริการตามรายการส่งเสริมการขายของผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. แจ้งขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการ ทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปรากฏว่าผู้ให้บริการบางส่วนได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการคิดอัตราค่าบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเล็กที่มีจำนวนรายการส่งเสริมการขายไม่มาก แต่ในกรณีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้ง 3 กลุ่มบริษัท แจ้งว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะมีรายการส่งเสริมการขายจำนวนมาก จึงต้องการให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการที่เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องแปรผันตามรายการส่งเสริมการขาย

ในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้เตรียมเสนอแนวทางปรับปรุงการคิดค่าบริการในส่วนของการใช้งานจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ โดยกำหนดค่าโทรในลักษณะอัตราเดียว คือ 1 บาท/15 นาที เศษของ 15 นาที ปัดเป็น 15 นาที และให้นับรวมการคิดค่าบริการเป็นการเรียกออกนอกรายการส่งเสริมการขายของผู้ใช้บริการด้วย

หากจะว่าไปแล้ว ข้อเสนอแนวทางปรับปรุงการคิดอัตราค่าบริการของสำนักงาน กสทช. ที่เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาในครั้งนี้นั้น นับเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการได้มากกว่าเดิม และสะดวกต่อการดำเนินการปรับปรุงระบบการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการด้วย ซึ่งหากไม่มีข้อโต้แย้งหรือข้อติดขัดอื่นใด แนวทางคิดค่าบริการนี้ถือเป็นแนวทางที่สมประโยชน์กับทุกฝ่าย

——————————-

วาระดำเนินคดีกับ บมจ. กสทฯ กรณีใช้คลื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
วาระนี้สืบเนื่องจาก กทช. เคยมีมติเมื่อการประชุมครั้งที่ 11/2553 วันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ไม่อนุญาตให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ใช้คลื่นความถี่ย่าน 800 MHz แต่ภายหลังสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า บมจ. กสทฯ ยังคงมีการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของตนเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาเปรียบเทียบปรับ บมจ. กสทฯ ในความผิดฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 รวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 174,000 บาท ซึ่ง บมจ. กสทฯ ได้ดำเนินการชำระค่าปรับในส่วนนี้แล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กฎหมายกำหนดให้ บมจ. กสทฯ ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามด้วย ซึ่งการฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เนื่องจาก กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาเปรียบเทียบปรับในอัตราโทษจำคุกที่เกิน 6 เดือน อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของประเทศ สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำวาระขึ้นมาเพื่อเสนอ กทค. พิจารณามอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ บมจ. กสทฯ ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจต่อไป

——————————-

วาระรายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอรายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ โดยในปี 2559 มีการจัดสรรเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่รวม 1,017,000 เลขหมาย ที่น่าสังเกตคือเป็นการจัดสรรเลขหมายให้กับ บจ. ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้น ถึง 981,000 เลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 96.46 ของทั้งหมด ทั้งที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บจ. ทรูฯ กับ บมจ. ทีโอที กำลังจะสิ้นสุดในปี 2561 นี้แล้ว ส่วนการคืนเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ ทั้งหมดเป็นการคืนเลขหมายของ บมจ. ทีโอที จำนวนทั้งสิ้น 526,000 เลขหมาย

ในส่วนของการจัดสรรเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2559 มีการจัดสรรเลขหมายรวม 18,080,000 เลขหมาย แบ่งเป็นการจัดสรรเลขหมายให้กับ บจ. เรียล มูฟ จำนวน 9,630,000 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 53.26 รองลงมาเป็นการจัดสรรเลขหมายให้กับ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำนวน 6,230,000 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 34.45 ส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรให้กับกลุ่มผู้รับใบอนุญาตที่เป็น MVNO จำนวน 1,520,000 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 8.40 และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต จำนวน 700,000 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 3.87

——————————-

วาระรายงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ประจำเดือนธันวาคม 2559
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. รับทราบรายงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ประจำเดือนธันวาคม 2559

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเผยให้เห็นถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองอย่างต่อเนื่องในปี 2559 โดยมีจำนวนการอนุญาต 160 ใบอนุญาต เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 2.4 เท่า ขณะที่การอนุญาตทั้งหมดตั้งแต่ปี 2548 – 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 673 ใบอนุญาต

ในรายละเอียดของการอนุญาตในปี 2559 ปรากฏว่าเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งจำนวน 82 ใบอนุญาต และใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่งจำนวน 78 ใบอนุญาต ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีที่ให้ความสนใจประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบสายเช่า (leased line) บริการอินเทอร์เน็ตแบบ xDSL และบริการอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi จำนวนถึง 25 ราย

ส่วนแนวโน้มในปี 2560 การขออนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่งเพื่อประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi ในลักษณะ Point to Point หรือ Point to Multipoint คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กทค. ได้อนุญาตให้สามารถใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ 5.725 – 5.850 GHz สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตในลักษณะดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 เป็นต้นมา