จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 12/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 12/2560 วันพุธที่ 20 กันยายน 2560 สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณากรณีช่องรายการอัมรินทร์ทีวีมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและการออกอากาศรายการในลักษณะที่จัดให้มีข้อความหรือข้อมูล ซึ่งมีขนาดพื้นที่บนหน้าจอรวมกันเกินกว่าที่กำหนด

ทั้งนี้ สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้ตรวจสอบพบการออกอากาศรายการและการโฆษณาของรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ทางช่องอมรินทร์ทีวีว่ามีการโฆษณาสินค้าหรือบริการเกินกว่าชั่วโมงละ 12.30 นาที ในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 และวันที่ 20 สิงหาคม 2560 รวมทั้งมีการออกอากาศรายการในลักษณะที่จัดให้มีข้อความหรือข้อมูลซึ่งมีขนาดพื้นที่รวมกันเกินหนึ่งในแปดของขนาดพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์ในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยในเรื่องนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้พิจารณาแล้ว มีมติให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัทอมรินทร์ทีวีระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้โภค ทั้งการออกอากาศโฆษณาเกินเวลา และจัดให้มีข้อความหรือข้อมูลเกินขนาดพื้นที่ที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ปรับทางปกครองเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 50,000 บาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง รวมทั้งให้แจ้งผลการพิจารณาและคำสั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคไปยังกองทัพบกซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเพื่อทราบ และมีหน้าที่ติดตาม กำกับดูแล มิให้ผู้ใช้บริการโครงข่ายมีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบอีกต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมนำมติของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา

อย่างไรก็ดี ต่อเรื่องนี้ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ได้มีความเห็นในชั้นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ว่า วิธีการนับเวลาโฆษณายังไม่มีการกำหนดกฎกติกาที่ชัดเจน ประกอบกับยังมีการออกคำสั่งลงโทษทางปกครองต่อกรณีดังกล่าว และมีการฟ้องร้องทางปกครองอยู่ที่ศาลปกครอง ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการร่วมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ร่วมกันจัดทำร่างประกาศเพื่อกำหนดวิธีการโฆษณาให้ชัดเจน และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างแนวปฏิบัติให้ตรงกันเสียก่อน

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาการกระทำผิดด้านเนื้อหารายการ ได้แก่ รายการ “ปากโป้ง” ที่ออกอากาศทางช่อง 8 ตอนอาถรรพ์ทางสามแพร่ง! ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 และตอนขอเลขเด็ดเจ้าแม่ตะเคียน ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 ซึ่งเข้าข่ายเป็นการนำเสนอเนื้อหารายการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นความเชื่อนอกระบบ และอาจกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรายการ “แฉ” ที่ออกอากาศทางช่อง GMM 25 ออกอากาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ซึ่งในช่วงสัมภาษณ์แขกรับเชิญ มีการใช้คำพูดหยาบคาย ล่อแหลม ส่อไปในเรื่องทางเพศ อันเป็นเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งในกรณีของรายการ “ปากโป้ง” ทางช่อง 8 คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังช่องรายการซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ระมัดระวังในการนำเสนอรายการให้มีความเหมาะสม ส่วนกรณีของรายการ “แฉ” ทางช่อง GMM 25 คณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ มีมติลงโทษปรับทางปกครองเป็นเงิน 50,000 บาท

ในส่วนของวาระที่เกี่ยวข้องกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น ที่ประชุมเตรียมพิจารณาแนวทางการจัดสรรเงินสนับสนุนโครงการประเภทที่ 2 โครงการที่มุ่งเน้นการบรรลุความสำเร็จตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน ประจำปี 2561 จำนวน 670 ล้านบาท แบ่งเป็นภารกิจด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 200 ล้านบาท ภารกิจด้านกิจการโทรคมนาคม 200 ล้านบาท ภารกิจด้านบริหารคลื่นความถี่ฯ 70 ล้านบาท และภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนาฯ อีก 200 ล้านบาท รวมทั้งจะพิจารณาประกาศการรับข้อเสนอโครงการ กิจกรรม หรือการดำเนินการประเภทที่ 1 (โครงการที่เกิดจากผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน) ประจำปี 2561 ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยโครงการที่ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นโครงการที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี และสอดคล้องกับกรอบทิศทางการสนับสนุน ซึ่งแบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม 2) ด้านการส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน 3) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 4) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร 5) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ 6) ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภค