จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 15/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 15/2560 วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่อง กทค. ถูกฟ้องคดีปกครองกรณีเปลี่ยนแปลงมติการกำหนดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และการพิจารณาข้อร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ต้องการให้มีการกำหนดการคิดอัตราค่าบริการเสียงในหน่วยวินาทีและบริการข้อมูลในหน่วย kb ทุกรายการส่งเสริมการขาย

นอกจากนี้ ยังมีวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาส 1 ปี 2560 คำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณี บมจ. ทีทีแอนด์ที ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการ กสทช. และเรื่องการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

วาระ กทค. ถูกฟ้องกรณีเปลี่ยนแปลงมติการกำหนดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และการพิจารณาข้อร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 กทค. ได้พิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมฯ เมื่อครั้งที่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz รวมทั้งสอดคล้องกับเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทั้งสองย่าน

ทั้งนี้ ในการพิจารณาทบทวนมติดังกล่าว กทค. เสียงข้างมาก ได้มีมติใหม่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องมีจำนวนรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริม (on top) ไม่น้อยกว่า 50% ที่คิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริงของเสียงเป็นวินาที และในส่วนที่เหลือนอกจากนี้ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นนาที และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงในระยะเวลา 6 เดือน ว่าประชาชนมีทิศทางหรือแนวโน้มในการเลือกใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามรายการส่งเสริมการขายในแนวทางใด และให้เสนอต่อ กทค. เพื่อให้มีการพิจารณากำกับดูแลการคิดอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามความประสงค์ของประชาชนต่อไป

ต่อมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีหนังสือลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ขอให้มีการทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 โดยต้องการให้มีการกำหนดการคิดอัตราค่าบริการเสียงในหน่วยวินาทีและบริการข้อมูลในหน่วย kb ทุกรายการส่งเสริมการขาย เนื่องจากมองว่าการทบทวนมติของ กทค. เสียงข้างมากดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ทั้งหลักเกณฑ์การประมูลและเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ อันส่งผลในทางที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันการกำหนดให้ผู้ประกอบการออกรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีไม่น้อยกว่า 50% ก็เป็นเพียงการเล่นละคร เพราะที่ผ่านมารายการส่งเสริมการขายในรูปแบบที่คิดค่าบริการเป็นวินาทีที่ผู้ให้บริการนำออกมาจำหน่ายนั้น เมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์กับรายการส่งเสริมการขายแบบปัดเศษ พบว่ามีอัตราค่าบริการที่แพงกว่าหรือมีสิทธิประโยชน์ลดลง ดังนั้นเมื่อมีรายการส่งเสริมการขายทั้งสองแบบเปรียบเทียบกัน ผู้บริโภคก็ย่อมเลือกใช้รายการส่งเสริมการขายที่ให้สิทธิดีกว่าอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่สังคมเรียกร้องจึงไม่อาจเกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นก็ไม่มีการหยิบยกข้อเสนอของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้าที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งในเวลาต่อมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ในฐานะ กทค. เสียงข้างน้อยที่คัดค้านการทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 มาตลอด จึงได้ร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 โดยให้ประธาน กทค. และ กทค. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมติ กทค. เดิมครั้งที่ 10/2559

สำหรับในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณากำหนดผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับผิดชอบดำเนินคดี และแนวทางในการดำเนินคดีปกครองต่อไป ขณะเดียวกัน ก็เตรียมนำข้อเสนอของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ต้องการให้ กทค. ทบทวนมติครั้งที่ 1/2560 ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย วาระนี้จึงน่าจับตาอย่างมากว่า สุดท้ายแล้ว กทค. จะเลือกแนวทางทบทวนมติอีกครั้งตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้บริโภค หรือยืนยันตามมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยต้องต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

อนึ่ง ความคืบหน้าในการออกรายการส่งเสริมการขายในตลาดของผู้ให้บริการ จากการรายงานล่าสุดของผู้ให้บริการที่เข้ามายังสำนักงาน กสทช. เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พบว่า บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) มีการออกรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าโทรเป็นวินาทีแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 75% ขณะที่มีจำนวนผู้ใช้บริการที่ใช้รายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าโทรเป็นวินาที คิดเป็นสัดส่วน 74% ส่วน บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) มีการออกรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าโทรเป็นวินาทีแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 54.54% ขณะที่มีจำนวนผู้ใช้บริการที่ใช้รายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าโทรเป็นวินาที คิดเป็นสัดส่วน 37%

——————————-

วาระรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาส 1 ปี 2560
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2560 มีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสิ้น 667,375 เลขหมาย ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ถึง 77.41% ขณะที่อัตราความสำเร็จในการโอนย้ายเลขหมายของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 87.81% ซึ่งทุกบริษัทมีสัดส่วนการโอนย้ายเลขหมายสำเร็จสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการปรับปรุงเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการปฏิเสธผู้ขอโอนย้ายเลขหมายลดลง กล่าวคือ เหตุปฏิเสธชื่อผู้ขอโอนย้ายเลขหมายไม่ตรงกับชื่อผู้ใช้บริการลดลงจาก 125,928 เลขหมายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เหลือ 32,897 เลขหมายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 และเหตุปฏิเสธเพราะผู้ใช้บริการติดหนี้ลดลงจาก 215,793 เลขหมายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เหลือ 54,807 เลขหมายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า แม้หลังจากการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ในเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นต้นมา จะมีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่เป็นการโอนย้ายเลขหมายข้ามเครือบริษัทในสัดส่วนเพียง 5.42% แต่สำหรับในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 นี้ มีสัดส่วนการโอนย้ายเลขหมายข้ามเครือข่ายเฉลี่ยถึง 53.96% ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เคยอยู่ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานได้โอนเลขหมายผู้ใช้บริการไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ในเครือบริษัทเดียวกันที่อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตไปจำนวนมากแล้วนั่นเอง สัดส่วนการโอนย้ายเลขหมายข้ามเครือข่ายจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน

——————————-

วาระคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณี บมจ. ทีทีแอนด์ที ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการ กสทช.
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุมรับทราบผลคำพิพากษาศาลปกครองกลางในกรณีที่ บมจ. ทีทีแอนด์ที ฟ้องคำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่ให้ บมจ. ทีทีแอนด์ที ระงับการหยุดการให้บริการวงจรเช่าและการรื้อถอนคู่สายที่ใช้ในการเชื่อมโยงสัญญาณในส่วนที่กระทบต่อการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์

ทั้งนี้ กรณีพิพากษาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากบริษัททีทีแอนด์ทีได้ทำสัญญาการให้บริการวงเช่ากับบริษัททริปเปิลทีฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ผู้ใช้บริการของบริษัททริปเปิลทีฯ ต่อมาบริษัททีทีแอนด์ที โดย บจ. พี แพลนเนอร์ ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ได้หยุดให้บริการวงจรเช่าบางส่วนและรื้อถอนคู่สายที่ใช้ในการเชื่อมโยงสัญญาณเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าบริษัททริปเปิลทีฯ ผิดสัญญา รวมถึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานของ บมจ. ทีโอที ด้วยเหตุนี้ บริษัททริปเปิลทีฯ จึงได้ร้องเรียนมายังสำนักงาน กทช. ซึ่งปัจจุบันคือสำนักงาน กสทช.

ภายหลังการพิจารณาข้อพิพาท กรรมการ กทช. ในสมัยนั้นเห็นว่า การกระทำของบริษัททีทีแอนด์ทีฯ เป็นการพักหรือหยุดการให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ในเวลาต่อมาเลขาธิการ กสทช. จึงได้ออกคำสั่งให้บริษัททีทีแอนด์ทีระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว แต่บริษัททีทีแอนด์ทีก็ได้นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง

สำหรับผลของคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากบริษัททีทีแอนด์ทีได้ทำสัญญาการให้บริการวงจรเช่ากับบริษัททริปเปิลทีฯ จึงมีหน้าที่ต้องประกันคุณภาพการให้บริการและเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และไม่อาจนำเหตุผลที่ว่าต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบริษัททีโอทีมาอ้างเป็นเหตุได้

อย่างไรก็ตาม แม้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังไม่ทำให้คดีนี้ถึงที่สุด แต่จนขณะนี้ก็เท่ากับว่าคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. ข้างต้นยังคงชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้บังคับต่อไป

——————————-

วาระการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 84
วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อพิจารณา โดยเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการประชุม กทค. ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ในส่วนของการกำหนดตามอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและกรณีที่สิ้นสุดตามมติ กทค. ไปแล้ว และในส่วนการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการใช้งานคลื่นความถี่ตามอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา รวมทั้งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. มีหนังสือถึงฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการเพื่อการตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่ตั้งตามมาตรา 82 เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ยืนยันว่ามีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน และสัญญา ตามมาตรา 82 แล้วหรือไม่ อย่างไร ซึ่งการนำเสนอวาระของสำนักงาน กสทช. ให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในครั้งนี้ เป็นการแจ้งให้ กทค. ทราบว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน และสัญญา ตามมาตรา 82 เสร็จเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ยังไม่มีการชี้ชัดถึงเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่หรือการทำสัญญาในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น การตรวจสอบเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่กรณี บริษัท ทีที แอนด์ ที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือกรณีที่พบว่ามีกระบวนการแก้ไขเงื่อนไขของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่นกรณีการให้บริการสื่อสารดาวเทียมของ บมจ. ไทยคม กับกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เคยวินิจฉัยว่า วัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของดาวเทียมไทยคม 4 (IPSTAR) ไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทาน จึงถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน เป็นต้น ซึ่งรายงานผลการตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ฯ ของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ชี้ว่าสัญญาเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ระบุว่าถ้าสัญญายังไม่ยกเลิก ก็มีผลผูกพันตามกฎหมาย ดังนั้นเนื้อหาของรายงานฯ จึงไม่ได้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 82 ดังนั้นการกำหนดเรื่องอายุการถือครองคลื่นความถี่โดยที่ยังไม่มีการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาโดยครบถ้วน ก็นำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้

อนึ่ง สาระสำคัญของมาตรา 84 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดหน้าที่ของ กสทช. ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ โดยผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ก็ให้ยังสามารถใช้คลื่นต่อไปได้จนถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่ โดย กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นเพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ขณะที่มาตรา 82 กำหนดให้ผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการอยู่ในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ มีหน้าที่แจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด และให้ กสทช. ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบ